"Self-conquest is the greats of victory" การชนะใจตนเอง คือ ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

6/28/2010

จี20ยุคถดถอยโทรอนโตซัมมิตเสียงแตก

การประชุมที่โทรอนโต มีโอกาสสูงมากที่จะปราศจากผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม หรือในระดับที่เลวร้ายที่สุด จะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดช่องว่าง

การประชุมเวทีหนึ่งๆ ย่อมมีจุดที่หลากหลายไปตามวาระและเงื่อนไข แต่อย่างน้อยการประชุมแต่ละครั้งย่อมต้องมีจุดร่วมกันประการหนึ่ง นั่นคือการแสวงหาจุดร่วม และสงวนจุดต่าง เพื่อสลายสิ่งกีดขวางระหว่างทุกฝ่าย และเดินหน้าไปสู่จุดหมายร่วมกัน

การประชุม จี20 มีจุดประสงค์เช่นนั้นเช่นเดียวกัน
จากการประเมินวาระการประชุมสุดยอดผู้นำ จี20 ที่นครโทรอนโตของแคนาดา จะพบว่า วาระการประชุมมีความหลากหลายไปตามความต้องการของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกฝ่ายย่อมมีข้อเสนอที่แตกต่างกัน เพื่อนำมาแบบนโต๊ะประชุม แล้วหาทางออกที่ประนีประนอมที่สุด


อย่างไรก็ตาม นับวันเวที จี20 ยิ่งจะเป็นการประชุมที่ไร้ประโยชน์เข้าไปทุกขณะ เพราะเวทีจี20 ที่โทรอนโต ไม่ใช่ครั้งแรกที่ภาวะเสียงแตกระหว่างประเทศสมาชิกไม่อาจประสานให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ จนทำให้การประชุมคว้าน้ำเหลว อีกทั้งยังกลายเป็นตัวถ่วงให้ความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกในบางมิติ ต้องพลอยชะงักไปด้วย

หากไม่มีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม หรือมีเพียงแถลงการณ์การประชุมอย่างกว้างๆ ก็เป็นเพียงสำนวนโวหารที่ไม่อาจแก้ปัญหาได้ ในเมื่อไม่อาจแก้ปัญหาได้ ทุกประเทศก็คอยที่จะประชุมกันอยู่ร่ำไป ก่อนที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจ เวทีประชุมทั้งหลาย รวมถึง จี20 จึงควรปรับปรุงแนวทางและเป้าหมายของตนเองเสียก่อน

การปรับปรุงกระบวนการหารือและตั้งผลสัมฤทธิ์ของการประชุม จี20 ให้ชัดเจน มีความสำคัญอย่างยิ่งหลังจากที่ จี20 ได้เข้ามาแทนที่จี8 เมื่อปีที่แล้ว ในฐานะที่ประชุมเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีความสำคัญที่สุด พิจารณาจากสัดส่วนเศรษฐกิจของสมาชิก จี20 ที่กินสัดส่วนถึง 85% ของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วเจรจากันด้วยอำนาจต่อรองที่เท่าเทียมกัน

จี20 จึงนับเป็นหัวหอกที่จะกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง และเป็นความหวังของชาวโลกในห้วงเวลาที่วิกฤตยังไร้วี่แววที่จะคลี่คลาย

แต่เมื่อเดินทางมาถึงทางแพร่งที่วิกฤตต่างๆ มาบรรจบและพบกับปัญหาหมักหมมคาราคาซัง จี20 เริ่มที่จะขยับเขยื้อนต่อไปไม่ถนัด โดยเฉพาะภาวะติดขัดจากกรณีความขัดแย้งยืดเยื้อที่จะชี้เป็นชี้ตายแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

เมื่อไล่เรียงความแตกแยกที่ไม่อาจประสานทั้งที่ผ่านการประชุมระดับต่างๆ มาครั้งแล้วครั้งเล่าสามารถรวบรวมได้คร่าวๆ ดังนี้ค่าเงินหยวน คู่กรณีตลอดกาลคือจีนกับชาติตะวันตก ก่อนหน้า จี20 จะเปิดม่านไม่นาน จีนยอมอ่อนข้อด้วยการประกาศปล่อยเงินหยวนให้ยืดหยุ่นขึ้น แต่ชาติตะวันตกยังแสดงท่าที “ได้คืบจะเอาศอก”

การเปิดเสรีการค้า คู่กรณีคือประเทศกำลังพัฒนากับพัฒนาแล้ว เนื่องจากผลประโยชน์ด้านการค้าไม่ลงตัว ยังผลให้ที่ประชุมในคราวนี้ต้องลดระดับความคาดหวังที่จะไปให้ถึงข้อตกลงรอบโดฮา

การควบคุมระบบการเงิน คู่กรณีคือสหรัฐที่พยายามซื้อเวลาการวางมาตรการควบคุม ขณะที่ยุโรปต้องการล้อมคอกให้เร็วที่สุด

ประเด็นกระตุ้นเศรษฐกิจ คู่กรณีคือสหรัฐ ยุโรป และประเทศกำลังพัฒนา
อย่างไรก็ตาม ประเด็นไม่ลงรอยข้างต้นเป็นการมองในภาพกว้างเท่านั้น เพราะเมื่อลงในรายละเอียดมากขึ้นจะพบว่าผู้นำแต่ละประเทศล้วนมีข้อเสนอที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะตกอยู่ในห้วงวิกฤตเช่นเดียวกันก็ตามตัวอย่างเช่น นาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของญี่ปุ่นเพิ่งผลักดันนโยบายขึ้นภาษีและกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะของญี่ปุ่น นั่นคือภาวะเศรษฐกิจชะงักงันยาวนานถึง 2 ทศวรรษ


สตีเฟน ฮาร์เปอร์ นายกรัฐมนตรีของแคนาดา ในฐานะเจ้าภาพการประชุม คงไม่ปรารถนาการทุ่มงบประมาณของภาครัฐ เพราะขณะนี้ต้องคอยรับมือกับกรณีอื้อฉาวที่รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณฟุ่มเฟือยจนเป็นที่ครหาไปทั้งประเทศ

ประธานาธิบดี ดิมิทรี เมดเวเดฟ ของรัสเซีย ต้องการผลักดันให้รัสเซียเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าระหว่างประเทศ (WTO) หลังจากถูกสหรัฐพยายามเล่นแง่เพื่อขัดขวางมาโดยตลอด แต่โดยท่าทีของสหรัฐที่ยกข้อตกลงลดอาวุธนิวเคลียร์มาเป็นเงื่อนไขทางอ้อมแล้ว รัสเซียอาจต้องฝันค้างต่อไป ขณะที่เป้าหมายที่สมาชิก WTO จะก้าวไปให้ถึงข้อตกลงรอบโดฮาต้องกลายเป็นหมันเช่นกันในเวทีประชุมที่โทรอนโต

ความแตกต่างและแตกแยกเหล่านี้ ไม่เพียงไม่อาจหาทางออกในระยะยาวได้เท่านั้น พิจารณาจากผลการประชุม จี20 ครั้งที่ผ่านๆ มา แต่ยังมีประเด็นความขัดแย้งงอกเงยขึ้นมาไม่รู้จบ

ดังเช่น ล่าสุดเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่ต้องการให้ทุ่มงบประมาณรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (สหรัฐ) ฝ่ายที่ต้องการที่รัดเข็มขัดงบประมาณ (ยุโรป) และฝ่ายที่เลือก “สองไม่เอา” เพราะเศรษฐกิจอยู่ในภาวะน่าพอใจ (ประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น บราซิล)

การประชุมที่โทรอนโต มีโอกาสสูงมากที่จะปราศจากผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม หรือในระดับที่เลวร้ายที่สุด จะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดช่องว่างด้านการแก้ปัญหาระหว่างค่ายต่างๆ ในกลุ่ม จี20

เหมือนกับคราวประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกาหลีใต้ เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ ซึ่งแถลงการณ์ปิดท้ายการประชุมเต็มไปด้วยการเอ่ยถึงแนวทางการแก้ปัญหาอย่างกว้างๆ ในความเข้าใจขณะนั้น ชาวโลกต่างเห็นรัฐมนตรีคลัง จี20 อาจผ่านการตัดสินใจสำคัญๆ ให้เป็นหน้าที่ของระดับผู้นำรัฐบาล

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การวางแนวทางการตัดสินใจที่สำคัญมักทำกันในระดับรัฐมนตรี การประชุมในระดับผู้นำมักเป็นการหารือในระดับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ยังไม่ลงรอย

และโชคร้ายที่การประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อช่วงต้นเดือน มีนานาประเด็นที่ไม่อาจลงรอย และมีทีท่าจะไม่อาจลงรอยในระดับผู้นำประเทศเช่นกัน

การประชุม จี20 ที่โทรอนโต จึงไม่อาจเป็นเวทีแห่งความหวังมากนัก สำหรับเศรษฐกิจโลกที่ยังต้องมองหาความหวังอันริบหรี่

โพสต์ทูเดย์ 28 มิถุนายน 2553

No comments:

Post a Comment