มูลค่าของเงินหยวนภายหลังการปล่อยให้ยืดหยุ่น ที่มีวี่แววจะยิ่งอ่อนค่าลงกว่าเดิม แทนที่จะแข็งค่า
ในที่สุดจีนยินยอมคล้อยตามแรงกดดันจากนานาประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ ด้วยการประกาศว่า อาจปล่อยให้เงินหยวนเคลื่อนไหวขึ้นลงได้อย่างเสรีในเร็วๆ นี้ หลังจากที่ต้องทนฟังสหรัฐโอดครวญมาโดยตลอดว่า ค่าเงินหยวนอ่อนกว่าความเป็นจริง และยังผลให้สหรัฐต้องขาดดุลการค้าครั้งแล้วครั้งเล่า จนเศรษฐกิจไม่อาจเดินหน้าได้อย่างเต็มฝีก้าว
การตัดสินใจปล่อยค่าเงินหยวนให้ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น อาจเป็นผลพวงมาจากท่าทีเอาจริงเอาจริงของรัฐบาลประธานาธิบดี บารัก โอบามา ที่ล่าสุดพยายามผลักดันกฎหมายเอาผิดจีนที่ตรึงค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าจะกระทบต่อตัวเลขดุลการค้าของสหรัฐ
กฎหมายนี้แม้จะไม่เอาผิดจีนโดยตรง และเปิดช่องทางเล่นงานผ่านองค์การการค้าโลก (WTO) แต่ด้วยอิทธิพลที่ล้นหลามของสหรัฐในองค์กรระหว่างประเทศ ย่อมง่ายที่สหรัฐจะคว่ำบาตรทางการค้าต่อจีนโดยที่ WTO อาจคัดค้านพอเป็นพิธี
อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาของจีน มิได้บ่งชี้ว่าจีนยำเกรงสหรัฐหรือต้องการโอนอ่อนผ่อนปรนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามการปล่อยค่าเงินหยวนให้ยืดหยุ่นในครั้งนี้มีสัญญาณบ่งชี้หลายจุดว่า จีนกำลังตอบโต้สหรัฐอย่างแนบเนียน อีกทั้งผลลัพธ์ที่สหรัฐ คาดว่าจะเป็นผลดีต่อตนนั้น อาจกลายเป็นร้ายอย่างไม่น่าเชื่อ
ประการแรกคือ การประกาศปล่อยค่าเงินหยวนให้ยืดหยุ่นในครั้งนี้ ดูเหมือนผิดที่ผิดเวลา
จีนยังใช้วิธี “ลับลวงพราง” เพื่อเคลื่อนไหวในเชิงเศรษฐกิจและการเงิน นั่นคือ การปล่อยข่าวปฏิรูปค่าเงินหยวนในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันที่สื่อทั้งหลายมักปล่อยพื้นที่ให้กับข่าวที่ไม่หนักจนเกินไป นอกจากนี้สื่อท้องถิ่นของจีนยังลดระดับความสำคัญของข่าวนี้ไปอยู่หน้าหลังสุดของหนังสือพิมพ์
การทำเช่นนี้เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาตอบโต้ในทันทีทันใด โดยเฉพาะจากประเทศตะวันตกที่มักปั่นประเด็นค่าเงินหยวน ให้กลายเป็นวาระทางการเมือง ซึ่งฝ่ายจีนมองว่าเป็นเรื่องเกินกว่าเหตุ
ในเมื่อเกินกว่าเหตุ จีนจึงลดระดับประเด็นหยวนให้กลายเป็นข่าวเศรษฐกิจที่ไม่มีความสลักสำคัญนัก แต่กลับเป็นหมัดเด็ดที่ประเทศตะวันตกตั้งการ์ดรับแทบไม่ทัน
วิธีลับลวงพราง ลักษณะนี้จีนเคยนำมาใช้บ่อยครั้งกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) มักขึ้นดอกเบี้ยอย่างสายฟ้าแลบ โดยที่นักวิเคราะห์หรือนักลงทุนแทบไม่เคยได้กลิ่นมาก่อน ซึ่งต่างจากท่าทีของธนาคารกลางตะวันตก ซึ่งมักแย้มพรายท่าทีเป็นระยะ
ลับลวงพรางแบบสายฟ้าแลบ ช่วยให้จีนสามารถต้านทานการเก็งกำไรจากอัตราดอกเบี้ยได้อย่างชะงัด และไม่ต้องเป็นที่สงสัยว่า จีนจะหวังให้การปล่อยค่าเงินหยวนแบบสายฟ้าแลบจะช่วยสยบเสียงเรียกร้องจากชาติตะวันตกได้อย่างชะงัดเช่นกัน
ผลในชั้นต้นปรากฏว่ามีปฏิกิริยาจากแซนเดอร์ ลีวิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งนั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการตรวจสอบการใช้ภาษี ตอบรับด้วยท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ ด้วยการแสดงความยินดีในลำดับแรก ตามด้วยการข่มขู่ในลำดับต่อมา โดยเตือนว่าสหรัฐยังอาจตอบโต้จีน “หากเงินหยวนยังไม่แข็งค่าเท่าที่ควร”
ด้วยเหตุนี้คงไม่เกินเลยไปนักหากจะใช้คำว่า “ข่มขู่” กับคำกล่าวของลีวิน เพราะเป็นการสะท้อนถึงการกดดันจีนในเชิงรุก สืบเนื่องมาจากการผลักดันกฎหมายเอาผิดจีนกรณีตรึงค่าเงินหยวนของรัฐบาลโอบามา
ทัศนะที่ว่าสหรัฐเป็นผู้กำชัยชนะและประสบความสำเร็จในการกดดันจีน ยังสะท้อนให้เห็นจากความเห็นของนักวิเคราะห์บางราย เช่น จิม โอนีล หัวหน้านักวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกของบริษัท โกลด์แมน แซคส์ ที่ชี้ว่า นี่คืออีกหนึ่งชัยชนะเล็กๆ น้อยสำหรับ ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม การมองว่าสหรัฐคือผู้ได้ในการปล่อยค่าเงินหยวน อาจเป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง
เพราะนับแต่นี้จีนจะสามารถอ้างต่อที่ประชุมกลุ่มประเทศ จี20 ที่จะเริ่มการประชุมในช่วงสุดสัปดาห์หน้าได้ว่า ที่ประชุมควรใส่ใจกับปัญหาหนี้สาธารณะมากกว่าที่จะมาจับตาค่าเงินหยวน เพราะจีนได้ปล่อยให้ค่าเงินเป็นอิสระแล้ว อีกทั้งปัญหาหนี้ในยุโรปอาจเป็นตัวการที่แท้จริงที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หาใช่การตรึงค่าเงินหยวนดังคำกล่าวอ้างของสหรัฐแต่อย่างใด
การที่สหรัฐหมายมั่นปั้นมือจะใช้ประชุม จี20 เพื่อเบี่ยงประเด็นความสนใจของชาวโลกจากวิกฤตนี้ของยุโรป (อันเป็นพันธมิตรของตน) จึงมีวี่แววจะเป็นความพยายามที่ไร้ผล
อีกทั้งสหรัฐอาจยังไม่ระแคะระคายว่า ข้ออ้างที่ประชุม จี20 จะใช้ตรวจสอบเงินหยวนในฐานะที่เป็นตัวการความไม่สมดุลของการค้าโลก เริ่มที่จะเป็นข้ออ้างที่ล้าสมัยเข้าไปทุกขณะ เพราะจีนเริ่มที่จะหันเข้าหาตลาดภายใน แทนที่จะพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก
ด้วยเหตุนี้ การปล่อยเงินหยวนให้ยืดหยุ่น (ซึ่งอาจแข็งค่าขึ้นตามที่หลายฝ่ายหวังให้เป็นเช่นนั้น) จึงอาจไม่กระทบเศรษฐกิจจีนมากนัก
ในทางกลับกัน เศรษฐกิจของประเทศที่เรียกร้องจีนอาจกระอักเลือดเสียเอง!
ที่น่าวิตกสำหรับสหรัฐยิ่งกว่าก็คือ มูลค่าของเงินหยวนภายหลังการปล่อยให้ยืดหยุ่น ที่มีวี่แววจะยิ่งอ่อนค่าลงกว่าเดิม แทนที่จะแข็งค่าตามความคาดหวัง ดังความเห็นของหลี่ต้าวคุ่ย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของคณะกรรมการด้านนโยบายของธนาคารกลางจีน (PBOC) ที่ชี้ว่า เงินหยวนอาจอ่อนค่าลง ยิ่งกว่าเดิม หากเงินยูโรยังอ่อนค่าต่อเงินเหรียญสหรัฐอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับความเห็นของนูเรียล รูบินี กูรูการเงินที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในวอลสตรีต ผู้ทำนายวิกฤตอสังหาริมทรัพย์สหรัฐ ที่กล่าวว่า แม้ว่าจีนจะยอมปล่อยเงินหยวน แต่โอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นมามีอยู่น้อยมาก และหากแข็งค่าขึ้นมาจริงๆ จะแข็งค่าเพียงเล็กน้อยไม่เกินไปกว่า 3 หรือ 4% ต่อเหรียญสหรัฐ
กล่าวโดยสรุปก็คือ การปล่อยเงินหยวนให้ยืดหยุ่นเป็นกลเม็ดอย่างแนบเนียนของจีนในการแก้เกมและต่อกรกับแรงกดดันจากสหรัฐ โดยที่สหรัฐไม่อาจทัดทานได้
เพราะนี่คือสิ่งที่สหรัฐเรียกร้องเอง และจำต้องยอมรับผลลัพธ์ที่ออกมาด้วยจิตใจที่เป็นธรรม
แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว มีโอกาสน้อยมากที่สหรัฐจะยอมรามือจากการกดดันค่าเงินหยวน
โพสต์ทูเดย์ 21 มิถุนายน 2553
No comments:
Post a Comment