"Self-conquest is the greats of victory" การชนะใจตนเอง คือ ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

7/23/2011

คิวอี3รีเทิร์น?เฟดเล็งหว่านเงินรอบสาม เมื่อพญาอินทรียังลุกไม่ขึ้น

เป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าและคายไม่ออก เมื่อบรรดาผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด กำลังเสียงแตกกันอย่างหนักหน่วงว่าจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจรอบต่อไปหรือไม่ เนื่องจากในขณะนี้สภาพเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่อาจจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่และเชื่องช้าเต็มทน โดยเฉพาะการจ้างงานใหม่นั้นเพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่น่าพึงพอใจนัก

จากข้อมูลล่าสุดในเดือน มิ.ย.นั้น ได้ส่งสัญญาณชัดเจนถึงความเชื่องช้าของเศรษฐกิจสหรัฐในรอบหลายเดือน การสร้างงานใหม่เกิดขึ้นเพียง 1.8 หมื่นตำแหน่ง น้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน และอัตราการว่างงานเดือนล่าสุดของสหรัฐยังอยู่ในระดับชนเพดานที่ 9.2% สูงสุดในรอบปีนี้ ถือเป็นงานหนักของสหรัฐที่จะต้องพยายามขุดให้คนสหรัฐมีงานทำกันให้ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจพญาอินทรีนั้น 2 ใน 3 มาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ถ้าคนตกงานไม่ใช้เงิน เศรษฐกิจสหรัฐย่อมเป็นอัมพาตไปในทันที นั่นคือความจริงที่ไม่น่าพิสมัยนักของปรัชญาเศรษฐกิจทุนนิยมแบบอเมริกัน ที่กำลังเจอเข้ากับภาวะจนตรอกในยุคสหัสวรรษใหม่..!

ในรายงานการประชุมครั้งล่าสุดของบรรดาเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของเฟดนั้น ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งมีความเห็นและสนับสนุนให้เฟดนำมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาใช้อีกระลอกหนึ่ง หลังจากที่เคยประกาศใช้มาแล้วถึง 2 ครั้ง คือ นโยบายการเงินผ่อนปรนเชิงปริมาณ (Quantative Easing)

ในครั้งแรก ได้ประกาศใช้ไปเมื่อช่วงต้นปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐกำลังอยู่ในห้วงเหวแห่งภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนักหน่วง และในครั้งที่ 2 ในช่วงปลายปี 2010 ที่เฟดหวังว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยเป็นพลังขับเคลื่อนการสร้างให้กับชาวอเมริกัน

ภายใต้นโยบายดังกล่าว เฟดจะรับซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลจากธนาคารพาณิชย์ เป็นการปล่อยกระแสเงินเข้าสู่ระบบทางอ้อมและเป็นการช่วยกดให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ในระดับต่ำต่อไป

เมื่อครั้งการประกาศใช้นโยบายนี้เป็นหนที่ 2 เมื่อเดือน พ.ย. 2010 ที่ผ่านมา เฟดได้ทุ่มงบประมาณมากถึง 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทยอยรับซื้อคืนพันธบัตรของรัฐบาล เพื่อช่วยให้ธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นมีกระแสเงินสดคล่องตัวเปิดทางให้ปล่อยกู้ให้มากขึ้น เป็นทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง และกดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐให้อยู่ในระดับต่ำที่ 00.25% ต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตาม กำหนดอายุเวลาของโครงการดังกล่าวเพิ่งจะหมดอายุลงไปเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นการหมดอายุที่มาพร้อมๆ กับเสียงด่าขมไปทั่วโลก

เพราะแท้จริงแล้ว นโยบายดังกล่าวแทบจะไม่ได้ช่วยอะไรเลย

เพราะแท้จริงแล้ว คิวอียังสร้างความลำบากให้กับหลายประเทศทั่วโลก

ตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐยังสูงทะลุเพดาน ปริมาณการใช้สอยของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว และที่สำคัญเศรษฐกิจมะกันยังคงเซื่องซึมเหมือนเดิม การเติบโตของจีดีพีสหรัฐในไตรมาสแรกของปีนี้เติบโตขึ้นเพียง 1.8% เท่านั้น

เท่านั้นยังไม่พอ เฟดยังต้องปรับอัตราการเติบโตของจีดีพีทั้งปีนี้จากเดิมที่ 3.1-3.3% ลงมาอยู่ที่ 2.7-2.9% อีกด้วย เป็นสิ่งยืนยันว่านโยบายนี้ไม่ได้ช่วยอะไรแม้แต่น้อย

แต่ที่เลวร้ายที่สุด ผลข้างเคียงของนโยบายดังกล่าวได้สร้างความเสียหายไปทั่ว และเริ่มกลายเป็นปัจจัยคุกคามเศรษฐกิจสหรัฐเองมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ 2.32% แล้ว

อีกทั้งการพิมพ์ธนบัตรและหว่านเงินเข้าสู่ระบบแบบตามใจฉัน ของนโยบายคิวอี 2 ยังทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงเป็นประวัติการณ์ และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

หากจำกันได้เมื่อปีที่แล้ว หรือปี 2010 ถือเป็นปีที่เอเชียและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ต้องเจอกับผลข้างเคียงอย่างสาหัสเกือบจะทุกประเทศจากนโยบายคิวอีของเฟดที่ว่าการหว่านเงินลงสู่ระบบในช่วงเวลาที่ดอกเบี้ยสหรัฐต่ำเรียดติดดิน ได้ส่งผลให้กระแสทุนจากสหรัฐต่างไหลออกเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนสูงกว่า

ทุนเหล่านี้ได้เข้าเก็งกำไรกันอย่างบ้าคลั่งในตลาดทุนของเอเชีย และที่สำคัญได้ส่งผลให้เงินหลายสกุลในเอเชียต้องแข็งค่ากันอย่างรุนแรง รวมถึงเงินบาทของไทย ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกอย่างแสนสาหัส

ไม่แปลกที่นโยบายคิวอีของเฟดจะเป็นสิ่งที่ไม่เฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐเท่านั้น แต่เกือบจะทุกประเทศทั่วโลกด้วยซ้ำที่ออกอาการ “แขยง” พฤติกรรมของเฟดดังกล่าวที่พิมพ์พันธบัตรหว่านเงินอย่างเปล่าประโยชน์ ซึ่งสร้างความเสียหายไปทั่วโลก

ดังนั้น จึงกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า เฟดกำลังเดินมาถึงจุดที่ยากลำบากมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐ ที่จะเดินหน้าต่อด้วยการหว่านเงินกระตุ้นก็จะถูกต่อต้านจากทั้งภายในและภายนอกประเทศแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อาจจะวางเฉยต่อสภาพเศรษฐกิจที่แน่นิ่งต่อไปได้เช่นกัน

กระนั้นก็ตาม บางกระแสมองโลกในแง่ดีว่า ความแตกตื่นที่ว่าเฟดจะนำมาตรการคิวอีกลับมาใช้อีกครั้งนั้น เป็นเพียงการตีความรายงานการประชุมของเฟดกันไปเองของเหล่านักลงทุน

เพราะธนาคารกลางสหรัฐไม่น่าจะกล้านำมาตรการดังกล่าวกลับมาใช้อีกครั้ง เพราะเห็นกันชัดๆ อยู่แล้วว่าไม่ได้ผล และยังส่งผลข้างเคียง

หรือหากจะนำกลับมาใช้จริงอีกครั้ง ก็อาจจะมีขึ้นอย่างเร็วที่สุดในช่วงปีหน้า ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นเศรษฐกิจของสหรัฐก็น่าจะกระเตื้องดีกว่าในระดับปัจจุบันนี้แล้ว

แต่กระนั้น ถ้าหากพิจารณาสภาพเศรษฐกิจโลกในวันนี้ ก็ต้องยอมรับกันว่ามีเปอร์เซ็นต์ที่นโยบายนี้จะฟื้นคืนชีพอีกครั้งไม่น้อย

ไม่ว่าจะราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยทุบความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีๆ นี่เอง

ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตหนี้ในยุโรป ที่พลอยทำให้สหรัฐซบเซาลงตามไปด้วย

ไม่ว่าจะผลกระทบจากการฟุบตัวลงของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มครั้งรุนแรงที่สุดของแดนปลาดิบเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ทำเอาภาคการผลิตยานยนต์ของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตกระจายอยู่ในสหรัฐเซื่องซึมลงไปด้วย

ปัจจัยลบเหล่านี้ ถือว่ามีน้ำหนักพอที่จะทำให้สหรัฐกลับมาปั๊มเงินหว่านกันอีกรอบหากเข้าตาจนจริงๆ และเมื่อนั้น คงได้แต่สวดมนต์รอรับชะตากรรมกับคิวอี 3 กันถ้วนหน้า..!

Post Today
Last update : 7/14/2011

Risk of Ruin : โอกาสของการหมดตัว

วันนี้เราจะย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องของ Money Management กันบ้าง สิ่งที่ผมกำลังจะพูดถึงนั้น เกี่ยวพันถึงความเป็นและความตายในฐานะของนักเล่นหุ้นกันเลยทีเดียว Risk of Ruin หรือโอกาสที่คุณจะหมดตัวนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมันเป็นองค์ประกอบที่เกิดจากความเสี่ยง (Risk Exposed) ซึ่งมาจากขนาดการลงทุน (Position Size) และประสิทธิภาพของระบบการลงทุนของคุณเอง ระบบใครก็ระบบมัน ดังนั้น เราจึงควรที่จะรู้ว่าความเสี่ยงของตัวเราเองนั้นมีอยู่มากน้อยแค่ไหนครับ

คุณจะอยู่รอดในตลาดหุ้นได้ก็ต่อเมื่อ.. คุณเคารพต่อกฏของมัน

Risk of Ruin นั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ได้ถูกศึกษาอย่างจริงจรังจากทั้งนักคณิตศาสตร์, นักการพนันและนักลงทุนมาอย่างเนิ่นนานแล้ว ทฤษฏีเบื้องหลังของมันถูกอิงมาจากสูตรทางคณิตศาสตร์ซึ่งจะบอกให้คุณได้รู้ ว่า จากประสิทธิภาพของระบบการลงทุน และระบบ Money Management ของคุณนั้น คุณมีโอกาสมากแค่ไหนที่จะหมดตัวนั่นเอง

โดยปกติแล้ว เราทุกคนต้องการที่จะออกแบบระบบการลงทุนในส่วนของ Money Management ให้ดีพอจนแน่ใจได้ว่าโอกาสหมดตัวของเรานั้นเป็นศูยน์ (ถึงแม้ว่ามันจะไม่มีอะไรที่สามารถรับประกันได้อย่างแน่นอนก็ตาม) อย่างไรก็ดีในเบื้องต้นแล้ว สมการของการหา Risk of Ruin นั้นจะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 (0 คือไม่มีความเป็นไปได้ ส่วน 1 คือ 100% ไม่ช้าไม่นานยังไงต้องเจ๊งแน่นอน!) โดยมันจะถูกอ้างอิงจากตัวแปรหลักๆสามตัวดังต่อไปนี้

1. Wining Ratio (อัตราความแม่นยำ) ซึ่งจะถูกคำนวนจากจำนวนครั้งที่คุณมีกำไรจากการซื้อขายหุ้นของคุณทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น หากระบบของคุณมีความแม่นยำอยู่ที่ 40 ใน 100 ครั้ง คุณจะมี Wining Ratio เท่ากับ 40% และมี Losing Ratio (อัตราความผิดพลาด) อยู่ที่ 60% นั่นเอง

2. Payoff Ratio (อัตราต่อรอง หรือผลตอบแทนต่อความเสี่ยงในการซื้อขายโดยเฉลี่ย) ซึ่งจะถูกคำนวนจาก Average Wining Trades (ผลกำไรโดยเฉลี่ยในแต่ละครั้ง) หารด้วย Average Losing Trades (ผลขาดทุนโดยเฉลี่ยในแต่ละครั้ง) หรือพูดง่ายๆก็คือ มันบอกให้คุณรู้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วคุณได้กำไรเป็นกี่เท่าของการขาดทุนที่เกิด ขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากค่าของมันอยู่ที่ 3:1 นั่นหมายถึงคุณจะได้กำไรครั้งละสามเท่าของการขาดทุนนั่นเอง

3. Percent of Capital Exposed to Trading (ความเสี่ยง หรือสัดส่วนที่จะยอมขาดทุนคิดเป็นร้อยละของเงินทุน) พูดง่ายๆก็คือ นี่คือสิ่งที่คุณจะกำหนดเอาไว้ว่าคุณจะยอมเสียเงินครั้งละมากแค่ไหนในแต่ละ ครั้ง (คิดเป็น%) เมื่อเทียบจากเงินทุนที่คุณมีอยู่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่สำหรับคนทั่วๆไปหรือมือใหม่นั้น มันไม่ควรที่จะเกินครั้งละ 2% ของเงินทุนที่คุณมีอยู่ หรือคุณอาจจะสามารถหามันออกมาจากสมการของ Kelly ที่ใช้หาค่า Optimal F ก็ได้

สิ่งที่น่าสนใจจากสมการ Risk of Ruin ก็คือ มันจะค่อยลดลงเมื่อ Payoff Ratio ของคุณสูงขึ้น หรือเมื่อ Winning Ratio ของคุณเพิ่มมากขึ้น ในทางกลับกันแล้ว Risk of Ruin จะมีค่าที่สูงขึ้นเมื่อคุณยอมเสี่ยงหรือขาดทุนมากขึ้นในการซื้อขายหุ้นแต่ละ ครั้งนั่นเอง

สูตรการคำนวนหา Risk of Ruin

สำหรับสูตรการคำนวน Risk of Ruin นั้นมีอยู่หลายเจ้าเหมือนกัน วันหลังหากมีโอกาสผมจะมาเขียนอธิบายให้ฟังต่อนะครับเพราะค่อนข้างจะซับซ้อน อยู่ (ผมกับวิชาเลขนี่ก็แบบว่าถูกกันมากเลย 55) โดยข้างล่างจะเป็นสูตรของเจ้าพ่อเรื่อง Trading System นั่นก็คือ Perry Kaufman ครับ ถ้าใครไม่มึนก็คำนวนไปได้เลย แต่ถ้ามึนๆหน่อย ลองอาศัยตารางของ Nauzer J. Balsara ดูก็ได้ครับว่า Impact ของตัวแปรต่างๆเป็นอย่างไรกันบ้าง

สูตรการหา Risk of Ruin โดย Perry Kaufman จากหนังสือ New Trading Systems and methods 4th Edition

p1

ตาราง Risk of Ruin ของ Nauzer J. Balsara : ผล Risk of Ruin โดยมีอัตราเสี่ยงครั้งละ 10% ของเงินทุน (*สมมุติว่าขาดทุนครั้งละ 10% ของเงินทุน ไม่ใช่การขนาดของการลงทุนในแต่ละครั้งที่ 10% นะครับ)

Risk of Ruin Probabilities

Payoff Ratio 1 to 1

Payoff Ratio 2 to 1

Payoff Ratio 3 to 1

Payoff Ratio 4 to 1

Payoff Ratio 5 to 1

Win Ratio 25%

100 %

100 %

99 %

30.3 %

16.2 %

Win Ratio 30%

100 %

100 %

27.7 %

10.2 %

6.0 %

Win Ratio 35%

100 %

60.8 %

8.2 %

3.6 %

2.3 %

Win Ratio 40%

100 %

14.3 %

2.5 %

1.3 %

0.8 %

Win Ratio 45%

100 %

3.3 %

0.8 %

0.4 %

0.3 %

Win Ratio 50%

99 %

0.8 %

0.2 %

0.1 %

0.1 %

Win Ratio 55%

13.2 %

0.2 %

0.1 %

0.1 %

0.0 %

Win Ratio 60%

1.7 %

0.0 %

0.0 %

0.0 %

0.0 %



ตาราง Risk of Ruin ของ Nauzer J. Balsara : ผล Risk of Ruin โดยมีอัตราเสี่ยงครั้งละ 20% ของเงินทุน

Risk of Ruin Probabilities

Payoff Ratio 1 to 1

Payoff Ratio 2 to 1

Payoff Ratio 3 to 1

Payoff Ratio 4 to 1

Payoff Ratio 5 to 1

Win Ratio 25%

100 %

100 %

98 %

55 %

40 %

Win Ratio 30%

100 %

100 %

52.2 %

31.7 %

24.7 %

Win Ratio 35%

100 %

77.9 %

28 %

18.7 %

15.3 %

Win Ratio 40%

100 %

37.6 %

15.9 %

11.3 %

9.4 %

Win Ratio 45%

100 %

18.3 %

8.7 %

6.5 %

5.8 %

Win Ratio 50%

99 %

0.9 %

4.7 %

3.8 %

3.4 %

Win Ratio 55%

36.8 %

4.4 %

2.5 %

2.1 %

2.0 %

Win Ratio 60%

13.0 %

2.0 %

1.3 %

1.1 %

1.1 %



คำแนะนำสำหรับมือใหม่ : จะเห็นได้ว่าสำหรับมือใหม่แล้ว การพยายามจำกัดความเสี่ยงไว้ไม่ให้บานปลายตามสูตรมาตรฐานโดยทั่วไปนั้น (2% ในการเทรดละครั้ง หรือการจำกัดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ทไว้ที่ 6%) เป็นสิ่งที่สำคัญและไม่ควรละเมิดอย่างยิ่ง (อย่างน้อยก็จนกว่าจะแก่กล้าวิชาพอ) เพื่อเป็นการยืดอายุและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของเราออกไปให้นานที่สุด เนื่องจากคุณจะเห็นได้ว่า ยิ่งเราเสี่ยงหนักมากเท่าไหร่ Risk of Ruin ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น

Note : มองแล้วจะเห็นว่าไม่แปลกเลยที่คนเล่นหุ้นส่วนใหญ่จะเจ๊งหุ้น เพราะพวกเขามักปล่อยให้ตัวแปรตัวที่ 3 (Risk – Capital Exposure) บานปลายเกินไปกว่า 10-20% ของเงินทุนแทบทุกครั้ง เรื่อง Payoff ไม่ต้องพูดถึงเพราะหุ้นขึ้นนิดหน่อยก็รีบชิงขายทำกำไรกันแล้ว ส่วนอัตราความแม่นยำก็อย่างที่รู้ๆกันอยู่ หวังว่าจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนติดหุ้นแล้วไม่เปลี่ยนนิสัยได้เป็นอย่างดีนะ ครับ

มาที่ http://www.mangmaoclub.com

7/10/2011

คนแพ้ชอบถัวเฉลี่ยขาดทุน คนชนะชอบซื้อเพิ่มเมื่อมีกำไร

Paul Tudor Jones ประวัติโดยย่อของ Paul Tudor Jones

เขาเกิดในวันที่ 28 พฤษจิกายน ค.ศ. 1954 ที่มลรัฐ Memphis,Tennessee เขาคือผู้ก่อตั้งกองทุน Tudor Investment Corporation และเขาคือผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันที่ยิ่งใหญ่ซึ่งบริหารเงินทุนกว่าหลายพัน ล้านดอลลาร์ เขามีทรัพย์สินส่วนตัวโดยประมาณอยู่ที่ 3.3 พันล้านดอลลาร์ และได้ถูกจัดอันดับให้เป็นเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกอันดับที่ 369 ในปี 2007 โดยนิตยสาร Forbes โดยจากรายงานล่าสุดนั้น ในปี 2006 เขาทำเงินได้ถึง 750 ล้านดอลลาร์ทีเดียว


สไตล์การเก็งกำไรและความเชื่อของเขา

จากหนังสือ Market Wizards แนวคิดและความเชื่อของ Paul Tudor Jones ได้ถูกวิเคราะห์เอาไว้ดังนี้

-เขากล้าที่จะสวนกระแสซื้อหรือขายที่จุดวกกลับของตลาด เขาจะพยายามเทรดตามความเชื่อที่เขาคิดจนกว่าเขาจะเริ่มเปลี่ยนใจ โดยเมื่อขาดทุนเขาจะเริ่มลดขนาดการลงทุนของเขาลงเรื่อยๆ และจะน้อยที่สุดเมื่อการเก็งกำไรของเขาประสบผลแย่ที่สุด

-เขาเชื่อว่าเขาเป็นผู้ที่มักจะเห็นโอกาสในตลาดได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อเขาเริ่มมีไอเดียเกี่ยวกับการลงทุน เขาจะค่อยๆเริ่มลงทุนด้วยความเสี่ยงทีละน้อย จนกว่าที่เขาจะผิดพลาดติดๆกันหรือจนกว่าเขาจะเปลี่ยนแผนหรือความคิดของเขา

-เขาเป็นนักเก็งกำไรสไตล์ Swing Trader หรือเล่นรอบ เขาเชื่อว่ากำไรสูงสุดมาจากการซื้อได้ที่จุดวกกลับของแนวโน้ม และเขามักจะขายหมูบ่อยมาก แต่เขาก็สามารถซื้อหรือขายแถวๆจุดต่ำสุดและสูงสุดได้เช่นกัน

-เขาใช้เวลาในแต่ละวันส่วนใหญ่ในการทำให้เขามีความสุขและผ่อนคลาย เขาจะขาย Position ที่เขาถืออยู่ทิ้งหากว่าเขารู้สึกไม่สบายใจ และไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการเริ่มต้นใหม่ กุญแจสำคัญของการเก็งกำไรคือการเล่นเกมรับ ไม่ใช่เล่นเกมรุก

-ห้ามถัวเฉลี่ยขาดทุน และต้องลดขนาดการลงทุนลงเมื่อผลออกมาแย่ และเพิ่มขนาดการลงทุนขึ้นเรื่อยๆเมื่อมีกำไร

-เขามักตัดขาดทุนตามสัญชาติญาณของเขา โดยหากว่าราคาวิ่งมาถึงระดับนั้น เขาจะขายทิ้งไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เขาไม่เพียงแต่ตัดขาดทุนจากระดับราคาที่กำหนดไว้ แต่จากระยะเวลาที่ถือไว้หากไม่ได้กำไรอีกด้วย

-เขาจะตรวจสอบถึงความเสี่ยงโดยรวมในพอร์ทของเขาอยู่ตลอดเวลา

-เขาเชื่อว่าราคาเคลื่อนไหวนำหน้าปัจจัยพื้นฐาน

-เขาไม่เคยสนใจกับความผิดพลาดที่ได้เกิดขึ้น ถึงแม้ว่ามันจะพึ่งผ่านมาไม่ถึง 3 วินาที แต่เขาจะสนใจว่าเขาจะทำอะไรต่อไปนับจากวินาทีนี้เป็นต้นไป

-อย่าพยายามเป็นฮีโร่ อย่ามีอีโก้หรือทระนงตนเอง ต้องพยายามหมั่นตั้งคำถามกับตัวเอง และความสามารถของตนเองอยู่เสมอ อย่าได้เหลิงคิดไปว่าเราคือสุดยอด และเมื่อไหร่ที่เผลอคิดไป นั่นจะเป็นหนทางสู่ความตายของเรา

มาที่ http://www.mangmaoclub.com

7/09/2011

อิตาลีนับถอยหลังวิกฤตหนี้จ่อคอหอย

และแล้วสิ่งที่ทุกฝ่ายกังวลก็เกิดขึ้นจนได้เมื่อ Moody’s บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินชั้นนำของโลก

ประกาศพิจารณาความน่าเชื่อถือของธนาคารสัญชาติอิตาลีถึง 13 แห่ง ขู่ว่าอาจถึงขั้นลดระดับเครดิตลงมาอยู่ในระดับติดลบ หรือ Negative อีกทั้งยังขู่ที่จะเปิดกระบวนการพิจารณาเครดิตระยะยาวของธนาคารสัญชาติอิตาลีอีก 16 แห่ง เนื่องจากเสถียรภาพทางการเงินเริ่มสั่นคลอน

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ตอกย้ำให้ชาวโลกได้ประจักษ์ว่า โอกาสที่วิกฤตหนี้สาธารณะจะลุกลามไปทั่วภูมิภาคยังมีอยู่สูงมาก แม้ว่ากรีซจะได้ผ่านความเห็นชอบของสหภาพยุโรป (EU) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จนสามารถเดินหน้าแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะในระดับต่อไปได้แล้วก็ตาม

นับตั้งแต่ต้นปีแล้วที่อิตาลีอยู่ในรายชื่อประเทศที่สุ่มเสี่ยงจะจมดิ่งในวิกฤตหนี้สาธารณะ ถึงกับได้รับสมญานามเป็นหนึ่งในประเทศ PIGS หรือประเทศที่มีหนี้กองสุมพร้อมทั้งปัญหาเศรษฐกิจจนยากจะเยียวยา อันประกอบไปด้วย โปรตุเกส (P) อิตาลี (I) กรีซ (G) และสเปน (S)

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาอิตาลีเจ้าของอักษร I ถูกแทนที่ด้วยไอร์แลนด์ ซึ่งมีอักษรนำหน้าด้วยตัว I เหมือนกัน ขณะที่สเปน ยังไม่เลวร้ายถึงขั้นขอความช่วยเหลือจาก EU และ IMF แต่อาการร่อแร่เต็มที

นอกจากนี้ คำเรียกขานกลุ่มประเทศ PIGS ยังกลายเป็นคำต้องห้ามในหลายกรณี เพราะพ้องกับคำแปลถึงสัตว์ 4 เท้า ซึ่งมีนัยเหยียดหยามเจ้าของประเทศ กระแสการเฝ้าจับตาระวังกลุ่มประเทศที่เหลือจึงค่อยๆ เบาบางลง โดยเฉพาะการจับตาสถานการณ์ทางการเงินในอิตาลี

แม้จะรอดมาได้ แต่ที่ผ่านมาวงการเศรษฐกิจยังคาดหมายว่าอิตาลีอาจประสบปัญหาเกี่ยวกับหนี้สาธารณะไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องจากมีระดับหนี้ที่สูงถึง 119% ของสัดส่วน และครองเป็นอันดับที่ 8 ของโลก ในยุโรปเป็นรองก็แต่เพียงกรีซในลำดับที่ 5 ของโลก และไอซ์แลนด์ในอันดับที่ 6 ซึ่งแม้ไอซ์แลนด์จะอยู่นอกกลุ่ม EU และไม่ได้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน แต่ประเทศนี้อยู่ในภาวะใกล้ล้มละลายมาตั้งแต่ปี 2550 เพราะความเกี่ยวพันอย่างเหนียวแน่นกับวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐ

นักวิเคราะห์บางรายถึงกับเคยกล่าวอย่างเชื่อมั่นไว้เมื่อช่วงต้นปีว่า หากสเปนต้องขอรับความช่วยเหลือจากวิกฤตการเงินเป็นรายที่ 4 ต่อจากโปรตุเกสแล้ว ในเวลาอีกไม่นานอิตาลีจะกลายเป็นรายต่อไป

วันนี้สเปนยังไม่ขอรับความช่วยเหลือ แต่ก็เฉียดเต็มที พิจารณาจากปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าอย่างหนัก โดยเฉพาะอัตราว่างงานที่สูงกว่า 20% หรือสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และเหนือกว่าทุกประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรม

หากสเปนไม่สามารถฟื้นความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจ ต่อให้สเปนสามารถอัดฉีดทุนช่วยกู้สถานะของธนาคารที่ประสบปัญหาสภาพคล่องได้ ในที่สุดก็คงไม่อาจฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งแน่นอน

กรณีของอิตาลีก็เช่นเดียวกัน เสียแต่ว่าอิตาลียังไม่มีความพยายามใดๆ จากภาครัฐที่จะสกัดกั้นมิให้ธนาคารประสบกับปัญหาร้ายแรง หรืออย่างน้อยก็ตอบโต้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน ที่บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินยุโรปครั้งแล้วครั้งเล่า

เป็นไปได้ว่า ภาครัฐยังไม่เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับธนาคารในประเทศเป็นปัญหา เพราะธนาคารที่อยู่ในบัญชีพิจารณาของ Moody’s ล้วนแต่เป็นธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลาง

ต่างจากวิกฤตที่รุมเร้าไอร์แลนด์ ซึ่งแม้จะไม่ใช่ผลมาจากหนี้สาธารณะแต่มาจากความสั่นคลอนที่เกิดขึ้นกับธนาคาร ซึ่งล้วนแต่เป็นธนาคารระดับ Top 5 โดยรายหนึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ

นอกจากนี้ อิตาลียังเชื่อมั่นว่าระบบธนาคารของตนมีความแข็งแกร่ง ซึ่งมีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย เนื่องจากอิตาลีขึ้นชื่อลือชาในเรื่องธุรกิจการเงินและนายแบงก์ที่มีชื่อเสียงมาตั้งสมัยศตวรรษที่ 15 จากประสบการณ์นับร้อยปี ทำให้สถาบันการเงินของอิตาลีเรียนรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จและล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วน

ที่สำคัญก็คือ ธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่ช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้ธนาคารสัญชาติอิตาลี คือธรรมเนียมการปล่อยเงินกู้ที่เคร่งครัด ทั้งยังมีทุนสำรองสูงมากเมื่อเทียบกับธนาคารของประเทศอื่นๆ ในยุโรป

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ระบบการเงินการธนาคารจึงสามารถต้านทานกับวิกฤตการเงินโลกได้มากกว่าธนาคารในยุโรป

ด้วยเหตุนี้ระดับความน่าเชื่อถือของธนาคารอิตาลีจึงไล่เลี่ยอยู่ที่ AA หรือระดับ A ซึ่งถือว่าดีไม่น้อย และเหมาะกับการลงทุนอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความแข็งแกร่งเพียงใด เมื่อกระทบเข้ากับความกังวลเกี่ยวกับการลุกลามของวิกฤตหนี้สาธารณะ บวกกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา ทำให้ธุรกิจธนาคารของอิตาลีถูกจับตามองอย่างหวาดระแวงมากขึ้น ว่าอาจมีจุดจบเหมือนกับธนาคารสัญชาติไอร์แลนด์ ที่ถึงกับทำให้ทั้งประเทศหมิ่นเหม่กับการล้มละลาย

สถานการณ์ของอิตาลีอาจคล้ายคลึงกับไอร์แลนด์ แต่หากเจาะให้ลึกยิ่งขึ้น จะพบว่ากรณีนี้เหมือนกับสเปนไม่มีผิดเพี้ยน

ธนาคารของสเปนที่มีปัญหาสภาพคล่องส่วนใหญ่เป็นธนาคารในระดับกลางและขนาดย่อม อีกทั้งยังมีปัญหาเศรษฐกิจซบเซา ธนาคารกลางสเปนคาดว่า ในปีนี้จะมีอัตราการขยายตัวเพียง 0.8% เช่นเดียวกับอิตาลี ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1.1% นับได้ว่าแทบปราศจากแรงหนุนโดยสิ้นเชิง

ต้องจับตากันว่า หากสเปนมีอันเป็นไปอีกราย อิตาลีมีโอกาสสูงที่จะเดินตามรอยไปสู่หายนะทางการเงิน ด้วยเหตุและปัจจัยที่คล้ายคลึงกัน

อีกทั้งยังมีระดับหนี้สาธารณะที่สูงกว่าสเปนถึงกว่าเท่าตัว

28 มิถุนายน 2554 เวลา 08:08 น.

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ Posttoday