"Self-conquest is the greats of victory" การชนะใจตนเอง คือ ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

7/06/2010

แบงก์ยุโรปกับ Stress Test

แบงก์ยุโรปกับ Stress Test มั่นใจเกินไป วิกฤตยิ่งบานปลาย

การทดสอบสมรรถภาพจึงไม่ต่างอะไรกับการสร้างภาพ ในความเห็นของนักวิเคราะห์หลายๆ ราย แต่ยุโรปยังมองว่าเป็นการทดสอบอย่างจริงจัง และจะต้องโปร่งใสอย่างถึงที่สุด

เมื่อปีที่แล้วสหรัฐสร้างความฮือฮาด้วยการประกาศโครงการทดสอบสมรรถภาพของสถาบันการเงิน ตามกระบวนการ Stress Test เพื่อตรวจสอบความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินเหล่านี้ว่าเพียงพอที่จะรับมือกับภาวะช็อกได้หรือไม่ ในกรณีที่สถาบันการเงินชั้นนำเกิดล้มละลายอย่างไม่ทันตั้งตัวเหมือนชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับเลห์แมน บราเธอร์ส

มาปีนี้และในสัปดาห์นี้ ถึงคราวที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องผลักดันให้ยุโรปต้องเดินตามรอยสหรัฐ ด้วยสถานการณ์ที่แตกต่างกัน แต่ด้วยความกังวลที่คล้ายคลึงกัน มิหนำซ้ำฝั่งยุโรปมีท่าทีกระวนกระวายใจเสียยิ่งกว่า

ยุโรปจึงเร่งรัดกับกระบวนการนี้เป็นพิเศษ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนที่แล้ว เพื่อที่ในวันที่ 24 ก.ค. จะมีการประกาศผลการทดสอบอย่างเป็นทางการ ขณะที่สหรัฐให้เวลากับกระบวนการนี้ค่อนข้างนาน

ในกรณีของสหรัฐ การทดสอบสมรรถภาพของสถาบันการเงินเกิดขึ้นเพื่อตอบรับกับความโกลาหลที่เกิดขึ้นในตลาด ภายหลังจากสถาบันการเงินแห่งแล้วแห่งเล่าล้มครืนลงตามรอยเลห์แมน บราเธอร์ส จนความเชื่อมั่นสั่นคลอนอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม กรณีของสหรัฐดูเหมือนจะเข้าลักษณะวัวหายล้อมคอก เพราะนำมาตรการนี้มาใช้เมื่อสถาบันการเงินหลักๆ ล้มละลายไปเรียบร้อยแล้ว แต่อย่างน้อยยังมีผลลัพธ์ในด้านบวก คือ การเรียกคืนความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา

ส่วนในกรณีของยุโรป หากไม่นับความล้มเหลวของไอซ์แลนด์แล้ว ยังไม่ปรากฏสถาบันการเงินแห่งใดที่ล้มครืนลงอย่างรุนแรง ทว่าวิกฤตหนี้สาธารณะที่กำลังบั่นทอนเสถียรภาพของบางประเทศ กำลังทำให้หลายฝ่ายพลอยกังวลว่าปัญหาในระดับสาธารณะจะลุกลามมาถึงภาคเอกชนด้วย

ที่ประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปจริงจังกับปัญหานี้อย่างมาก และเห็นพ้องแทบจะในทันทีให้ดำเนินการทดสอบ เพราะหากพิจารณาว่าสหรัฐใช้มาตรการนี้เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นแล้ว ยุโรปก็อยู่ในสถานะนั้นเช่นกัน หลังจากที่บรรดาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินระดมหั่นระดับเครดิตของสมาชิกกลุ่มประเทศยูโรโซนอย่างมันมือ จนส่งผลสะเทือนต่อความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง

หากผลที่ออกมายืนยันว่า สถาบันการเงินยุโรปยังมี “สุขภาพ” ที่ดี ยุโรปจะมีเหตุผลหนักแน่นในการทัดทานการลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน อีกทั้งยังสามารถเตรียมรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุใดธนาคารของสเปนจึงประกาศลั่น พร้อมเผยผลการทดสอบเป็นรายแรก ในฐานะที่สเปนตกเป็นเป้าข่มขู่การลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน อีกทั้งยังมีปัญหาน่าเป็นห่วงทั้งในระดับดุลงบประมาณ และระดับธนาคารเอกชนที่เริ่มขาดสภาพคล่อง

แต่การทดสอบครั้งนี้ถือเป็นการชี้เป็นชี้ตายสมรรถภาพของธนาคารและสถาบันการเงินยุโรป หรือกระทั่งสามารถเป็นข้อพิสูจน์ความทนทานของระบบการเงินยุโรปต่อมรสุมทางการเงินและเศรษฐกิจหรือไม่นั้น ยังเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

เหตุผลประการแรกมาจากประสบการณ์การทำ Stress Test ของสหรัฐ
การทดสอบสมรรถนะของสถาบันการเงินในสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว ประเมินผลจากการตั้งสถานการณ์สมมติสองสถานการณ์ คือ ทดสอบความแข็งแกร่งในกรณีที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทรุดตัว และภาวะว่างงานรุนแรง และทดสอบความแข็งแกร่งในกรณีสถานการณ์เลวร้ายที่สุด คือ สหรัฐเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน


ผลปรากฏว่า การทดสอบสถาบันการเงินชั้นนำ 19 แห่งที่มีเงินทุนสูงกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทุกแห่งผ่านการทดสอบด้วยดี

อย่างไรก็ตาม การ “ผ่านการทดสอบด้วยดี” แม้จะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ในระดับโครงสร้างแล้วการทดสอบสมรรถภาพในเวอร์ชันของสหรัฐยังมีปัญหาอยู่มาก

นูเรียล รูบินี นักวิเคราะห์ชั้นนำแห่งตลาดวอลสตรีต ผู้เคยทำนายวิกฤตการเงินโลก ชี้ว่าในกระบวนการทดสอบของสหรัฐ แม้รัฐบาลจะกำหนดให้มีการเปิดเผยรายละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว

แต่ในเวลาเดียวกันรัฐบาลสหรัฐกลับเปิดทางให้สถาบันการเงิน “ผลิต” ข้อมูลขึ้นมาอย่างแนบเนียน และข้อมูลส่วนใหญ่ออกมาด้านบวก หากไม่หนุนราคาหุ้นของสถาบันการเงินนั้นๆ ก็จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ความสำเร็จให้กับกระบวนการ Stress Test

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลสหรัฐยังมีช่องทางในการอัดฉีดทุนเข้าหนุนสถาบันการเงิน ในกรณีที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง และเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างยุโรปอาจขอยืมรูปแบบ Stress Test มาจากสหรัฐก็จริง แต่โดยเนื้อหาแล้วยังเป็นที่น่ากังขาว่า จะได้ผลลัพธ์ที่ “น่าพึงพอใจ” เท่ากับกรณีของสหรัฐหรือไม่

ปัญหาสำคัญของยุโรป คือ สมรรถภาพของสถาบันการเงินในแต่ละประเทศอยู่ในระดับที่ต่างกัน จากประเทศที่มีเสถียรภาพมากที่สุดคือเยอรมนี จนถึงประเทศที่ใกล้ล้มละลายเต็มทีอย่างกรีซ และที่ต่างกันยิ่งกว่านั้นคือ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ยุโรปตั้งสถานการณ์สมมติของการทดสอบไว้ที่ ภาวะถดถอยของ GDP 2.7% และภาวะว่างงาน 12% แต่ในความเป็นจริงบางประเทศมีตัวเลขเศรษฐกิจที่ย่ำแย่กว่านั้นหลายเท่าตัว เช่น สเปนที่อัตราว่างงานสูงถึง 20%

อีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่น่าสนใจก็คือ ยุโรปมีชั้นเชิงในการเปิดเผยผลการทดสอบที่อ่อนด้อยกว่าสหรัฐ ซึ่งแม้จะจริงอยู่ที่สหรัฐใช้กลเม็ดในการปั่นความเชื่อมั่นภายหลังประกาศผลการทดสอบ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยาก และไม่ช่วยแก้ปัญหาระยะยาว

แต่สหรัฐมองที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ไม่ใช่ความแข็งแกร่งเชิงโครงสร้าง และถือเป็นพฤติกรรมโดยปกติของสหรัฐที่ได้ชื่อว่า ตีค่าภาคธุรกิจเหนือสิ่งอื่นใดการทดสอบสมรรถภาพจึงไม่ต่างอะไรกับการสร้างภาพ ในความเห็นของนักวิเคราะห์หลายๆ ราย แต่ยุโรปยังมองว่าเป็นการทดสอบอย่างจริงจัง และจะต้องโปร่งใสอย่างถึงที่สุด

การทดสอบที่ขาดการ “วางแผน” อย่างรัดกุมเหมือนดังสหรัฐ และการมั่นใจอย่างล้นเหลือของบรรดาผู้นำยุโรป จึงอาจส่งผลด้านลบอย่างเหนือความคาดหมาย เพราะความเข้าใจที่ต่างกัน รวมถึงความ “เข้าใจเอาเอง” ของผู้นำยุโรปว่า เศรษฐกิจของตนมีเสถียรภาพมากพอ ทั้งๆ ที่บางประเทศกำลังหมิ่นเหม่กับภาวะล้มละลายและเมื่อนั้นการทดสอบสมรรถภาพ จะไม่ใช่การยืนยันถึงความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินยุโรป แต่จะกลายเป็นการเปิดเผยให้เห็นถึงความอ่อนแออย่างไม่น่าเชื่อซ้ำเติมให้วิกฤตยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

จากโพสต์ทูเดย์ 06 กรกฎาคม 2553

No comments:

Post a Comment