"Self-conquest is the greats of victory" การชนะใจตนเอง คือ ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

7/08/2010

บีพีล้มละลาย ใครตายก่อน?

เมื่อประเมินสถานะและความมั่นคงของบริษัทน้ำมันเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินแล้วก็จะพบว่า บริษัทน้ำมันไม่มีเงินฝาก หรือเงินทุนสำรองก้อนโตคอยค้ำจุนความมั่นคง

เหตุการณ์แท่นขุดเจาะน้ำมันดีพวอเตอร์ ฮอไรซอน ในอ่าวเม็กซิโกระเบิด อาจจะไม่ได้เป็นฝันร้ายที่จะตามหลอกหลอน บริติช ปิโตรเลียม หรือ บีพี บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของอังกฤษแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป

เมื่อความเคลื่อนไหวล่าสุด บริษัทบีพีเร่งเดินหน้าหารือกับบรรดากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (เอสดับเบิลยูเอฟ) ของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง และเอเชีย เพื่อหวังจะดึงเข้ามาเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และปิดโอกาสบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่รายอื่นไม่ให้เข้ามาเทกโอเวอร์

ท่าทีกระเสือกกระสนเอาตัวรอดของบีพีในยามที่วิกฤตถาโถมเช่นนี้ ก็ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่บีพีจะ “ล้มละลาย” กลับมาเป็นที่กล่าวขวัญถึงอีกครั้ง ซึ่งผู้ที่ดูเหมือนว่าจะต้องรับบทหนักที่สุด หากเรื่องราวปรากฏออกมาในรูปนี้ ก็หนีไม่พ้นรัฐบาลสหรัฐ

ด้วยภาระหนักอึ้งที่บีพีต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการประมาณการมูลค่าความเสียหายที่สูงถึง 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ การให้คำมั่นสัญญาว่าจะตั้งกองทุนชดเชยให้กับเหยื่อผู้บริสุทธิ์อีกกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ดิ่งลงกว่า 9 หมื่นเหรียญสหรัฐ หรือเกินกว่า 50% ตลอดจนการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงมาอย่างถล่มทลาย ก็ทำให้บีพีหลงเหลือทางเลือกที่จะเป็นทางรอดอยู่ไม่มากเท่าใดนัก และหนึ่งในทางเลือกที่บีพีหลงเหลืออยู่ในขณะนี้ก็คือ การยื่นขอล้มละลาย

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นมีส่วนสนับสนุนให้บีพีตัดสินใจยื่นขอล้มละลาย โดยตามกฎหมายล้มละลายที่เป็นอยู่ บริษัทสามารถยื่นขอล้มละลายได้ถึงแม้ว่าจะยังมีความสามารถในการชำระหนี้ได้อยู่ และหากบีพียื่นขอล้มละลายจริง บีพีก็จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู และปรับโครงสร้างหนี้อย่างที่หลายบริษัทก่อนหน้านี้ได้กระทำ

คำถามสำคัญคือ หากบีพีล้มละลายขึ้นมา อะไรจะเกิดขึ้น

แน่นอนว่า เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เกิดขึ้น เกิดในเขตประเทศสหรัฐ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดหากบีพีล้มละลายคงหนีไม่พ้นรัฐบาลสหรัฐ

เพราะเมื่อบีพีล้มละลาย นั่นหมายความว่า บีพีจะไม่สามารถจ่ายคืนภาระหนี้สินที่ตนแบกรับอยู่คืนให้กับเจ้าหนี้ได้ และภาระหน้าที่ที่บีพีเคยประกาศว่าจะให้ความช่วยหลือ และชดเชยเงินให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วก็จะกลายมาเป็นงานหนักของรัฐบาลสหรัฐ

ชะตาชีวิตของบรรดาชาวประมง พนักงานประจำแท่นขุดเจาะน้ำมัน เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่กำจัดคราบน้ำมัน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วทั้งหมดทั้งมวลก็จะกลายเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลสหรัฐ
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีกประการหนึ่งหากบีพีล้มละลายก็คือ จะทำให้อัตราการว่างงานในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นแบบทันทีทันใด เพราะทันทีที่บีพีล้มละลาย บรรดาเจ้าของสถานีบริการน้ำมันของบีพีที่ดำเนินกิจการอย่างเป็นอิสระจำนวนหลายพันสถานีทั้งสหรัฐต้องตกงาน


ยิ่งไปกว่านั้น จากความจริงที่ว่าบริษัทบีพี เป็นบริษัทน้ำมันที่มีสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางน้อยที่สุดเพียงประมาณ 10 ล้านบาร์เรล เมื่อเทียบกับเอ็กซอน เชฟรอน และ วาเลโร ซึ่งนำเข้าเกินกว่าร้อยล้านบาร์เรล ก็แปลว่า หากบีพีล้มละลาย รัฐบาลสหรัฐก็จะพึ่งพาการบริโภคน้ำมันจากตะวันออกกลางมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐไม่พึงปรารถนาเท่าใดนัก

การล้มละลายของบีพี นอกจากจะสร้างภาระอันหนักอึ้งให้กับรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งอาจมีผลไปฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นนักกระตุ้นหนาแล้ว ยังมีโอกาสจะจุดชนวนวิกฤตเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งด้วย

ก่อนหน้านี้ เหตุการณ์น้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโกถูกสื่อสารออกมาในเชิงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของชาวอเมริกันซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ ทว่าหลายฝ่ายประเมินความรุนแรงของเหตุการณ์น้ำมันรั่วในครั้งนี้ที่มีต่อเศรษฐกิจโลกต่ำเกินไป

ความเป็นจริงข้อหนึ่งที่สำคัญ และอาจจะถูกละเลยไปก็คือ สภาพคล่องทางการเงินของโลกนั้นขึ้นอยู่กับความมั่นคงของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่างมาก เนื่องจากบรรดาสถาบันทางการเงินต่างๆ ของโลกมักจะเข้าไปลงทุน หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำมัน ซึ่งถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้เป็นไปตามเงื่อนไข และตรงตามกำหนดเวลา

ดังนั้น หากบริษัทน้ำมันล้มละลาย บรรดาสถาบันการเงินที่เข้าไปมีผลประโยชน์อยู่ด้วยก็จะติดร่างแห และได้รับผลกระทบตามไปด้วย

เมื่อประเมินสถานะและความมั่นคงของบริษัทน้ำมันเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินแล้วก็จะพบว่า บริษัทน้ำมันไม่มีเงินฝาก หรือเงินทุนสำรองก้อนโตคอยค้ำจุนความมั่นคงของบริษัทเช่นเดียวกับสถาบันการเงิน และนั่นก็แปลว่า โอกาสที่บริษัทน้ำมันจะล้มละลายจึงมีมากกว่า

วันใดที่บีพีเกิดล้มละลายขึ้นมา แล้วพบว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจของโลกเลวร้ายเทียบเท่า หรือมากกว่าครั้งที่สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างเลห์แมน บราเธอร์ส เคยประสบมา จึงไม่น่าแปลกใจ

โพสต์ทูเดย์ 08 กรกฎาคม 2553

No comments:

Post a Comment