และแล้วสิ่งที่ทุกฝ่ายกังวลก็เกิดขึ้นจนได้เมื่อ Moody’s บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินชั้นนำของโลก
ประกาศพิจารณาความน่าเชื่อถือของธนาคารสัญชาติอิตาลีถึง 13 แห่ง ขู่ว่าอาจถึงขั้นลดระดับเครดิตลงมาอยู่ในระดับติดลบ หรือ Negative อีกทั้งยังขู่ที่จะเปิดกระบวนการพิจารณาเครดิตระยะยาวของธนาคารสัญชาติอิตาลีอีก 16 แห่ง เนื่องจากเสถียรภาพทางการเงินเริ่มสั่นคลอน
ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ตอกย้ำให้ชาวโลกได้ประจักษ์ว่า โอกาสที่วิกฤตหนี้สาธารณะจะลุกลามไปทั่วภูมิภาคยังมีอยู่สูงมาก แม้ว่ากรีซจะได้ผ่านความเห็นชอบของสหภาพยุโรป (EU) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จนสามารถเดินหน้าแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะในระดับต่อไปได้แล้วก็ตาม
นับตั้งแต่ต้นปีแล้วที่อิตาลีอยู่ในรายชื่อประเทศที่สุ่มเสี่ยงจะจมดิ่งในวิกฤตหนี้สาธารณะ ถึงกับได้รับสมญานามเป็นหนึ่งในประเทศ PIGS หรือประเทศที่มีหนี้กองสุมพร้อมทั้งปัญหาเศรษฐกิจจนยากจะเยียวยา อันประกอบไปด้วย โปรตุเกส (P) อิตาลี (I) กรีซ (G) และสเปน (S)
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาอิตาลีเจ้าของอักษร I ถูกแทนที่ด้วยไอร์แลนด์ ซึ่งมีอักษรนำหน้าด้วยตัว I เหมือนกัน ขณะที่สเปน ยังไม่เลวร้ายถึงขั้นขอความช่วยเหลือจาก EU และ IMF แต่อาการร่อแร่เต็มที
นอกจากนี้ คำเรียกขานกลุ่มประเทศ PIGS ยังกลายเป็นคำต้องห้ามในหลายกรณี เพราะพ้องกับคำแปลถึงสัตว์ 4 เท้า ซึ่งมีนัยเหยียดหยามเจ้าของประเทศ กระแสการเฝ้าจับตาระวังกลุ่มประเทศที่เหลือจึงค่อยๆ เบาบางลง โดยเฉพาะการจับตาสถานการณ์ทางการเงินในอิตาลี
แม้จะรอดมาได้ แต่ที่ผ่านมาวงการเศรษฐกิจยังคาดหมายว่าอิตาลีอาจประสบปัญหาเกี่ยวกับหนี้สาธารณะไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องจากมีระดับหนี้ที่สูงถึง 119% ของสัดส่วน และครองเป็นอันดับที่ 8 ของโลก ในยุโรปเป็นรองก็แต่เพียงกรีซในลำดับที่ 5 ของโลก และไอซ์แลนด์ในอันดับที่ 6 ซึ่งแม้ไอซ์แลนด์จะอยู่นอกกลุ่ม EU และไม่ได้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน แต่ประเทศนี้อยู่ในภาวะใกล้ล้มละลายมาตั้งแต่ปี 2550 เพราะความเกี่ยวพันอย่างเหนียวแน่นกับวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐ
นักวิเคราะห์บางรายถึงกับเคยกล่าวอย่างเชื่อมั่นไว้เมื่อช่วงต้นปีว่า หากสเปนต้องขอรับความช่วยเหลือจากวิกฤตการเงินเป็นรายที่ 4 ต่อจากโปรตุเกสแล้ว ในเวลาอีกไม่นานอิตาลีจะกลายเป็นรายต่อไป
วันนี้สเปนยังไม่ขอรับความช่วยเหลือ แต่ก็เฉียดเต็มที พิจารณาจากปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าอย่างหนัก โดยเฉพาะอัตราว่างงานที่สูงกว่า 20% หรือสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และเหนือกว่าทุกประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรม
หากสเปนไม่สามารถฟื้นความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจ ต่อให้สเปนสามารถอัดฉีดทุนช่วยกู้สถานะของธนาคารที่ประสบปัญหาสภาพคล่องได้ ในที่สุดก็คงไม่อาจฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งแน่นอน
กรณีของอิตาลีก็เช่นเดียวกัน เสียแต่ว่าอิตาลียังไม่มีความพยายามใดๆ จากภาครัฐที่จะสกัดกั้นมิให้ธนาคารประสบกับปัญหาร้ายแรง หรืออย่างน้อยก็ตอบโต้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน ที่บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินยุโรปครั้งแล้วครั้งเล่า
เป็นไปได้ว่า ภาครัฐยังไม่เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับธนาคารในประเทศเป็นปัญหา เพราะธนาคารที่อยู่ในบัญชีพิจารณาของ Moody’s ล้วนแต่เป็นธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลาง
ต่างจากวิกฤตที่รุมเร้าไอร์แลนด์ ซึ่งแม้จะไม่ใช่ผลมาจากหนี้สาธารณะแต่มาจากความสั่นคลอนที่เกิดขึ้นกับธนาคาร ซึ่งล้วนแต่เป็นธนาคารระดับ Top 5 โดยรายหนึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ
นอกจากนี้ อิตาลียังเชื่อมั่นว่าระบบธนาคารของตนมีความแข็งแกร่ง ซึ่งมีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย เนื่องจากอิตาลีขึ้นชื่อลือชาในเรื่องธุรกิจการเงินและนายแบงก์ที่มีชื่อเสียงมาตั้งสมัยศตวรรษที่ 15 จากประสบการณ์นับร้อยปี ทำให้สถาบันการเงินของอิตาลีเรียนรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จและล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วน
ที่สำคัญก็คือ ธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่ช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้ธนาคารสัญชาติอิตาลี คือธรรมเนียมการปล่อยเงินกู้ที่เคร่งครัด ทั้งยังมีทุนสำรองสูงมากเมื่อเทียบกับธนาคารของประเทศอื่นๆ ในยุโรป
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ระบบการเงินการธนาคารจึงสามารถต้านทานกับวิกฤตการเงินโลกได้มากกว่าธนาคารในยุโรป
ด้วยเหตุนี้ระดับความน่าเชื่อถือของธนาคารอิตาลีจึงไล่เลี่ยอยู่ที่ AA หรือระดับ A ซึ่งถือว่าดีไม่น้อย และเหมาะกับการลงทุนอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความแข็งแกร่งเพียงใด เมื่อกระทบเข้ากับความกังวลเกี่ยวกับการลุกลามของวิกฤตหนี้สาธารณะ บวกกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา ทำให้ธุรกิจธนาคารของอิตาลีถูกจับตามองอย่างหวาดระแวงมากขึ้น ว่าอาจมีจุดจบเหมือนกับธนาคารสัญชาติไอร์แลนด์ ที่ถึงกับทำให้ทั้งประเทศหมิ่นเหม่กับการล้มละลาย
สถานการณ์ของอิตาลีอาจคล้ายคลึงกับไอร์แลนด์ แต่หากเจาะให้ลึกยิ่งขึ้น จะพบว่ากรณีนี้เหมือนกับสเปนไม่มีผิดเพี้ยน
ธนาคารของสเปนที่มีปัญหาสภาพคล่องส่วนใหญ่เป็นธนาคารในระดับกลางและขนาดย่อม อีกทั้งยังมีปัญหาเศรษฐกิจซบเซา ธนาคารกลางสเปนคาดว่า ในปีนี้จะมีอัตราการขยายตัวเพียง 0.8% เช่นเดียวกับอิตาลี ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1.1% นับได้ว่าแทบปราศจากแรงหนุนโดยสิ้นเชิง
ต้องจับตากันว่า หากสเปนมีอันเป็นไปอีกราย อิตาลีมีโอกาสสูงที่จะเดินตามรอยไปสู่หายนะทางการเงิน ด้วยเหตุและปัจจัยที่คล้ายคลึงกัน
อีกทั้งยังมีระดับหนี้สาธารณะที่สูงกว่าสเปนถึงกว่าเท่าตัว
28 มิถุนายน 2554 เวลา 08:08 น.
โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ Posttoday
No comments:
Post a Comment