"Self-conquest is the greats of victory" การชนะใจตนเอง คือ ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

9/21/2011

'Operation Twist' ทางเลือกที่ต้องรอดของเศรษฐกิจมะกัน

นับเป็นเรื่องที่ทั่วโลกต่างจับตามองอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง กับการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20–21 ก.ย.นี้ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐรอบใหม่อีกครั้ง หลังจากที่สภาพเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่ได้กระเตื้องขึ้นแม้แต่น้อย

ยืนยันได้ชัดจากตัวเลขการว่างงานของสหรัฐที่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 9% และตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่แทบไม่ขยับเขยื้อนใดๆ

สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้บรรดาสมาชิกเฟดเริ่มตระหนักแล้วว่า ไม่อาจจะขอประวิงเวลารอดูเหตุการณ์เหมือนที่แล้วมาได้อีกต่อไป และจำเป็นต้องหาทางนำเงินใส่เข้าไปในระบบเพื่อให้เกิดการจ้างงานขึ้นอีกครั้ง อันจะส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ภายใต้การผลักดันอย่างเต็มที่จากคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (เอฟโอเอ็มซี)

อย่างไรก็ตาม สมาชิกเฟดอีกส่วนหนึ่งกลับคัดค้านที่จะให้เฟดเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหวั่นใจกับปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐได้เพิ่มจาก 3.6% ในเดือน ก.ค. มาอยู่ที่ 3.8% ในเดือน ส.ค. ซึ่งเกินเพดานที่เฟดตั้งไว้ที่ 2% อีกทั้งยังมีแนวโน้มจะขยับขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานที่ขยับพุ่งขึ้นทั่วโลก และเป็นช่วงที่เฟดใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ด้วยการทุ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมากถึง 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

เฟด จึงได้รับเสียงตำหนิมากมายจากเหล่าสมาชิกสภาคองเกรสที่เป็นตัวการกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ จนทำให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายของเฟดไม่ต้องการลงมือกระทำการใดๆ ที่จะไปกระตุ้นกระแสต่อต้านเฟดภายในสภาคองเกรสให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

ปัญหาเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจที่เดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอยจึงกลายเป็นความขัดแย้งภายในของบรรดาผู้กำหนดนโยบายของเฟด ที่นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักต่างลุ้นระทึกว่า เฟดจะเลือกทางไหนระหว่างกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป หรือชะงักไว้ก่อนเพื่อชะลอเงินเฟ้อ

ทว่า เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าหน้าที่หลักของเฟดในตอนนี้ก็คือการแก้ปัญหาตัวเลขการว่างงาน ความเป็นไปได้ที่ว่าเฟดจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปจึงมีมากกว่า

ทั้งนี้ หากเฟดเลือกที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ท่ามกลางเงินเฟ้อขาขึ้น นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เฟดพอจะรอมชอมให้ประกาศใช้ออกมาได้ก็คือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกกันว่า ปฏิบัติการ “Operation Twist” มากกว่าที่จะใช้มาตรการคิวอี เนื่องจากมาตรการพิมพ์ธนบัตรใหม่ออกมาซื้อพันธบัตรรัฐบาล ให้ผลไม่ตรงตามประโยชน์ที่วาดหวังกันไว้

การกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวทางของ Operation Twist ก็คือการปรับสัดส่วนการถือครองพันธบัตรของเฟดให้เป็นตราสารระยะยาวมากขึ้น และลดการถือครองตราสารระยะสั้น หรือก็คือการยืดอายุการชำระหนี้ออกไป โดยมีเป้าหมายเพื่อกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น เลี่ยงการเก็งกำไร และกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

พูดให้ง่ายว่า วิธีการดังกล่าวก็คือการที่เฟดจะออกพันธบัตรระยะสั้นมาเปลี่ยนกับพันธบัตรระยะยาว โดยไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินเพิ่มเติม เพื่อกดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะเป็นการหลีกเลี่ยงวิธีการแบบเดิมที่ต้องทุ่มเงินเข้าระบบการเงินแบบไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหม จนทำให้เกิดเงินเฟ้อเหมือนที่เป็นมา

ทั้งนี้ สหรัฐเคยนำแนวทาง Operation Twist มาใช้แล้วครั้งหนึ่งในช่วงทศวรรษที่ 1960 หรือระหว่างปี 2504-2508 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว และขายตั๋วเงินคลังระยะสั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินผ่านจากจัดการปริมาณเงินในระบบ ก่อนที่จะประกาศใช้อีกครั้งในเดือน มี.ค. 2552 แต่มีเป้าหมายที่ต่างออกไปก็คือเพื่อทำให้ปัจจัยแวดล้อมในระบบการเงินที่ตึงตัวอยู่ผ่อนคลายลง

Operation Twist จึงเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด และเหมาะสมที่สุดหลังจากที่เฟดเพิ่งจะผ่านพ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่อย่างคิวอีมาแล้วสองรอบ

เพราะคิวอีทำให้เฟดต้องเข้าถือพันธบัตรระยะสั้นในมือมากขึ้น ขณะที่ Operation Twist จะช่วยเปลี่ยนพันธบัตรระยะสั้นเหล่านั้นให้เป็นระยะยาวซึ่งจะลดดอกเบี้ยในระยะยาว จนทำให้ธนาคารยอมปล่อยกู้ให้กับบรรดาบริษัทห้างร้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือไปจากการยืดระยะเวลาการคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับใกล้ศูนย์เพิ่มออกไปอีก 2 ปี ที่หลายฝ่ายในเฟดมองว่าอาจเป็นช่องทางให้บริษัทห้างร้านต่างๆ ฉวยโอกาสเก็บเงินสดไว้ แทนที่จะนำไปใช้ในการลงทุนและการจ้างงาน

สำหรับความเป็นไปได้อีกทางที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าเฟดอาจจะเลือกลงมือทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่ธนาคารพาณิชย์สำหรับทุนสำรองส่วนเกินที่นำมาฝากไว้ที่เฟด ซึ่งเท่ากับเป็นการบีบบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้มากยิ่งขึ้นเพื่อแลกกับอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว

ทว่า ปัญหาที่ตามมาก็คือ ธนาคารพาณิชย์ไม่อาจกำหนดดอกเบี้ยให้สูงได้ในช่วงที่เจ้าของกิจการหรือประชาชนคนธรรมดาต่างแสวงหาหนทางปรับลดต้นทุนกู้ยืมของตนเองลง

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า เครื่องมือทั้งหมดที่พอจะให้เฟดใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ขณะนี้ ล้วนส่งผลเสียต่อเฟดแทบทั้งสิ้น

แต่เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้เพื่อให้เกิดการจ้างงาน บรรดานักเศรษฐศาสตร์จึงเห็นตรงกันว่า Operation Twist ดูจะเป็นทางเลือกที่อันตรายน้อยที่สุดสำหรับเฟดในเวลานี้แล้ว

Posttoday

20 กันยายน 2554

No comments:

Post a Comment