เป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าและคายไม่ออก เมื่อบรรดาผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด กำลังเสียงแตกกันอย่างหนักหน่วงว่าจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจรอบต่อไปหรือไม่ เนื่องจากในขณะนี้สภาพเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่อาจจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่และเชื่องช้าเต็มทน โดยเฉพาะการจ้างงานใหม่นั้นเพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่น่าพึงพอใจนัก
จากข้อมูลล่าสุดในเดือน มิ.ย.นั้น ได้ส่งสัญญาณชัดเจนถึงความเชื่องช้าของเศรษฐกิจสหรัฐในรอบหลายเดือน การสร้างงานใหม่เกิดขึ้นเพียง 1.8 หมื่นตำแหน่ง น้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน และอัตราการว่างงานเดือนล่าสุดของสหรัฐยังอยู่ในระดับชนเพดานที่ 9.2% สูงสุดในรอบปีนี้ ถือเป็นงานหนักของสหรัฐที่จะต้องพยายามขุดให้คนสหรัฐมีงานทำกันให้ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจพญาอินทรีนั้น 2 ใน 3 มาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ถ้าคนตกงานไม่ใช้เงิน เศรษฐกิจสหรัฐย่อมเป็นอัมพาตไปในทันที นั่นคือความจริงที่ไม่น่าพิสมัยนักของปรัชญาเศรษฐกิจทุนนิยมแบบอเมริกัน ที่กำลังเจอเข้ากับภาวะจนตรอกในยุคสหัสวรรษใหม่..!
ในรายงานการประชุมครั้งล่าสุดของบรรดาเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของเฟดนั้น ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งมีความเห็นและสนับสนุนให้เฟดนำมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาใช้อีกระลอกหนึ่ง หลังจากที่เคยประกาศใช้มาแล้วถึง 2 ครั้ง คือ นโยบายการเงินผ่อนปรนเชิงปริมาณ (Quantative Easing)
ในครั้งแรก ได้ประกาศใช้ไปเมื่อช่วงต้นปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐกำลังอยู่ในห้วงเหวแห่งภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนักหน่วง และในครั้งที่ 2 ในช่วงปลายปี 2010 ที่เฟดหวังว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยเป็นพลังขับเคลื่อนการสร้างให้กับชาวอเมริกัน
ภายใต้นโยบายดังกล่าว เฟดจะรับซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลจากธนาคารพาณิชย์ เป็นการปล่อยกระแสเงินเข้าสู่ระบบทางอ้อมและเป็นการช่วยกดให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ในระดับต่ำต่อไป
เมื่อครั้งการประกาศใช้นโยบายนี้เป็นหนที่ 2 เมื่อเดือน พ.ย. 2010 ที่ผ่านมา เฟดได้ทุ่มงบประมาณมากถึง 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทยอยรับซื้อคืนพันธบัตรของรัฐบาล เพื่อช่วยให้ธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นมีกระแสเงินสดคล่องตัวเปิดทางให้ปล่อยกู้ให้มากขึ้น เป็นทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง และกดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐให้อยู่ในระดับต่ำที่ 00.25% ต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตาม กำหนดอายุเวลาของโครงการดังกล่าวเพิ่งจะหมดอายุลงไปเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นการหมดอายุที่มาพร้อมๆ กับเสียงด่าขมไปทั่วโลก
เพราะแท้จริงแล้ว นโยบายดังกล่าวแทบจะไม่ได้ช่วยอะไรเลย
เพราะแท้จริงแล้ว คิวอียังสร้างความลำบากให้กับหลายประเทศทั่วโลก
ตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐยังสูงทะลุเพดาน ปริมาณการใช้สอยของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว และที่สำคัญเศรษฐกิจมะกันยังคงเซื่องซึมเหมือนเดิม การเติบโตของจีดีพีสหรัฐในไตรมาสแรกของปีนี้เติบโตขึ้นเพียง 1.8% เท่านั้น
เท่านั้นยังไม่พอ เฟดยังต้องปรับอัตราการเติบโตของจีดีพีทั้งปีนี้จากเดิมที่ 3.1-3.3% ลงมาอยู่ที่ 2.7-2.9% อีกด้วย เป็นสิ่งยืนยันว่านโยบายนี้ไม่ได้ช่วยอะไรแม้แต่น้อย
แต่ที่เลวร้ายที่สุด ผลข้างเคียงของนโยบายดังกล่าวได้สร้างความเสียหายไปทั่ว และเริ่มกลายเป็นปัจจัยคุกคามเศรษฐกิจสหรัฐเองมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ 2.32% แล้ว
อีกทั้งการพิมพ์ธนบัตรและหว่านเงินเข้าสู่ระบบแบบตามใจฉัน ของนโยบายคิวอี 2 ยังทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงเป็นประวัติการณ์ และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
หากจำกันได้เมื่อปีที่แล้ว หรือปี 2010 ถือเป็นปีที่เอเชียและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ต้องเจอกับผลข้างเคียงอย่างสาหัสเกือบจะทุกประเทศจากนโยบายคิวอีของเฟดที่ว่าการหว่านเงินลงสู่ระบบในช่วงเวลาที่ดอกเบี้ยสหรัฐต่ำเรียดติดดิน ได้ส่งผลให้กระแสทุนจากสหรัฐต่างไหลออกเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนสูงกว่า
ทุนเหล่านี้ได้เข้าเก็งกำไรกันอย่างบ้าคลั่งในตลาดทุนของเอเชีย และที่สำคัญได้ส่งผลให้เงินหลายสกุลในเอเชียต้องแข็งค่ากันอย่างรุนแรง รวมถึงเงินบาทของไทย ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกอย่างแสนสาหัส
ไม่แปลกที่นโยบายคิวอีของเฟดจะเป็นสิ่งที่ไม่เฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐเท่านั้น แต่เกือบจะทุกประเทศทั่วโลกด้วยซ้ำที่ออกอาการ “แขยง” พฤติกรรมของเฟดดังกล่าวที่พิมพ์พันธบัตรหว่านเงินอย่างเปล่าประโยชน์ ซึ่งสร้างความเสียหายไปทั่วโลก
ดังนั้น จึงกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า เฟดกำลังเดินมาถึงจุดที่ยากลำบากมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐ ที่จะเดินหน้าต่อด้วยการหว่านเงินกระตุ้นก็จะถูกต่อต้านจากทั้งภายในและภายนอกประเทศแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อาจจะวางเฉยต่อสภาพเศรษฐกิจที่แน่นิ่งต่อไปได้เช่นกัน
กระนั้นก็ตาม บางกระแสมองโลกในแง่ดีว่า ความแตกตื่นที่ว่าเฟดจะนำมาตรการคิวอีกลับมาใช้อีกครั้งนั้น เป็นเพียงการตีความรายงานการประชุมของเฟดกันไปเองของเหล่านักลงทุน
เพราะธนาคารกลางสหรัฐไม่น่าจะกล้านำมาตรการดังกล่าวกลับมาใช้อีกครั้ง เพราะเห็นกันชัดๆ อยู่แล้วว่าไม่ได้ผล และยังส่งผลข้างเคียง
หรือหากจะนำกลับมาใช้จริงอีกครั้ง ก็อาจจะมีขึ้นอย่างเร็วที่สุดในช่วงปีหน้า ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นเศรษฐกิจของสหรัฐก็น่าจะกระเตื้องดีกว่าในระดับปัจจุบันนี้แล้ว
แต่กระนั้น ถ้าหากพิจารณาสภาพเศรษฐกิจโลกในวันนี้ ก็ต้องยอมรับกันว่ามีเปอร์เซ็นต์ที่นโยบายนี้จะฟื้นคืนชีพอีกครั้งไม่น้อย
ไม่ว่าจะราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยทุบความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีๆ นี่เอง
ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตหนี้ในยุโรป ที่พลอยทำให้สหรัฐซบเซาลงตามไปด้วย
ไม่ว่าจะผลกระทบจากการฟุบตัวลงของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มครั้งรุนแรงที่สุดของแดนปลาดิบเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ทำเอาภาคการผลิตยานยนต์ของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตกระจายอยู่ในสหรัฐเซื่องซึมลงไปด้วย
ปัจจัยลบเหล่านี้ ถือว่ามีน้ำหนักพอที่จะทำให้สหรัฐกลับมาปั๊มเงินหว่านกันอีกรอบหากเข้าตาจนจริงๆ และเมื่อนั้น คงได้แต่สวดมนต์รอรับชะตากรรมกับคิวอี 3 กันถ้วนหน้า..!
Post Today
Last update : 7/14/2011