นักลงทุนมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เมื่อที่ประชุมกลุ่มประเทศยุโรปได้ข้อตกลงร่วมกันสำหรับการช่วยเหลือประเทศกรีซ ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ไปจนถึงสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานปรับตัวขึ้น ขณะที่ตลาดพันธบัตรกลับมาลดลงนานๆ ทีถึงจะได้เห็นภาพการจับมือกันระหว่างผู้นำประเทศ ประธานธนาคารกลาง รวมถึงคนในระดับ VIP ถ้าไม่ใช่การประชุมนัดใหญ่ๆ ในระดับนานาชาติ แต่ในครั้งนี้ agenda ของการประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศยุโรปต้องถูกเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ด้วยเรื่องที่ทุกคนกำลังเป็นกังวลและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ วิกฤติหนี้ของประเทศกรีซ จากสถานการณ์ที่อาจลุกลามจนกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง ก็นำมาสู่ข้อสรุปที่ได้ในเบื้องต้นสำหรับการประชุมเมื่อวานนี้ ด้วยการที่ผู้นำประเทศในยุโรปต่างเห็นพ้องที่จะให้ออกมาตรการควบคุมสถานการณ์ของกรีซให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประเทศเล็กๆ แต่มียอดการขาดดุลงบประมาณอันมหาศาลแห่งนี้ และกำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับค่าเงินในภูมิภาคครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 11 ปีของประวัติศาสตร์ค่าเงินยูโรเลยทีเดียว ข้อตกลงที่หลายคนรอคอยเกิดขึ้นด้วยการประสานของ 3 บุคคลสำคัญ อย่าง นายกรัฐมนตรีเยอรมัน Angela Merkel ผู้นำกรีซ George Papandreou และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ประธานธนาคารกลางยุโรป Jean-Claude Trichet ซึ่งทั้งหมดต่างได้เข้าพูดคุยและบรรลุข้อตกลงก่อนหน้าการประชุมสุดยอดของสหภาพยุโรปจะเริ่มขึ้นที่กรุงบรัสเซล นายเฮอร์มาน ฟาน รอมพาย (Herman Van Rompuy) ประธานสหภาพยุโรป กล่าวว่า ประเทศสมาชิกยูโรโซนตกลงกันที่จะใช้มาตรการแบบเจาะจงและร่วมมือในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาคโดยรวม โดยพร้อมให้ความสนับสนุนความพยายามจากรัฐบาลกรีซและการดำเนินการใดๆ ก็ตามที่มีความจำเป็นในการแก้ปัญหา ข้อตกลงช่วยเหลือล่าสุดได้เปิดช่องไว้ให้กับทาง EU เพื่อที่จะจัดการกับคลื่นการเก็งกำไรโจมตีประเทศกรีซรอบใหม่ ซึ่งก็รวมถึงประเทศที่มีปัญหาคล้ายๆ กัน อย่าง สเปนและโปรตุเกสด้วย คำแถลงของ EU ยังเป็นเหมือนการสะท้อนให้กรีซเร่งเคลียร์ปัญหาบัญชีของตัวเอง และต้องการผลักดันให้ประเทศยอมรับการเข้ามาตรวจสอบจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ด้วยผู้นำเยอรมัน Angela Merkel ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ได้แสดงท่าทีต้องการกดดันประเทศสมาชิกใดๆ ก็ตามที่กำลังโหมใช้เงินงบประมาณอย่างหนัก แต่มีการออมในประเทศในระดับต่ำ ด้วยการบีบให้ประเทศเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ที่เข้มงวดต่อไป
Money Channel
No comments:
Post a Comment