สื่อชั้นนำของโลกอย่างนิวส์วีค-อีโคโนมิสต์ ร่วมกับโออีซีดีและมูดี้ส์ ให้ข้อมูลวิเคราะห์ตามติดปัญหาหนี้หลายประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดวิกฤติรอบใหม่ซ้ำรอยดูไบผิดชำระหนี้ ด้วยการติดตามดูหนี้รัฐเทียบจีดีพีที่สูง ศักยภาพบริหารงานเศรษฐกิจด้อยลง ผสมความอ่อนไหวการเงินเรื่องความสามารถชำระหนี้รัฐกับเอกชนในประเทศ ล้วนเป็นสัญญาณอันตรายบ่งชี้วิกฤติโลกครั้งต่อไป กำลังคืบคลานจากดูไบไปยังภูมิภาคอื่นโดยเฉพาะยุโรป
เมื่อปลายเดือนพ.ย.ปี 2552 ปัญหาของประเทศเล็กๆ อย่างดูไบ ได้กลายเป็นกรณีตัวอย่างที่ทุกประเทศต้องหันกลับไปดูหนี้สาธารณะของประเทศตัวเอง เมื่อดูไบ เวิลด์ บริษัทใหญ่ของรัฐบาลดูไบ เผชิญวิกฤติฉุดมูลค่าสินทรัพย์ร่วงกว่า 50% และกลายเป็นหนี้มหาศาลกว่า 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเทียบเท่า 70% ของจีดีพีประเทศตลอด 3 ปีข้างหน้า
การประกาศขอเลื่อนชำระหนี้ 3.5 พันล้านดอลลาร์ของรัฐบาลดูไบ ที่จะครบกำหนดชำระเดือน ธ.ค.ปีนี้ ไปเป็นเดือน พ.ค.ปีหน้า ก่อวิกฤติศรัทธาเพียงชั่วข้ามคืนในหมู่นักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะนักลงทุนเอเชียขวัญอ่อนกว่าใครเพื่อน พากันเทขายหุ้นจนบางตลาดร่วงมากสุดเกือบ 5% เมื่อวันศุกร์ (27 พ.ย.2552) ส่วนตลาดหุ้นดูไบเองเมื่อต้นเดือนธ.ค.ปีนี้ร่วงต่อเนื่อง ทำสถิติร่วงมากสุดกว่า 6%
หลังจากข่าวดูไบพักชำระหนี้ เขย่าขวัญนักลงทุนได้ไม่นาน อีก 2-3 สัปดาห์ถัดมา ปรากฏข่าวร้อนสร้างความวิตกให้นักลงทุน เมื่อฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อของกรีซลงมาอยู่ระดับ BBB+ จากเดิม A- ถือเป็นการลดอันดับครั้งแรกในรอบ 10 ปี และเป็นครั้งแรกความน่าเชื่อถือของกรีซถูกลดลงมาต่ำกว่าระดับ A
ฟิทช์ให้เหตุผลว่า กังวลเรื่องแนวโน้มระยะกลางของสถานภาพทางการเงินภาครัฐ และพิจารณาจากความน่าเชื่อถือด้อยลงของสถาบันการเงินและกรอบนโยบายของกรีซ ซึ่งได้รับผลพวงจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น ว่าจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนและสมดุลหรือไม่
ต่อมาอีก 2 วัน ภายหลังการเผยแพร่ข่าวกรีซถูกปรับลดความน่าเชื่อถือของประเทศ ทางสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ หรือเอสแอนด์พี ได้ประกาศปรับลดเรทติ้งแนวโน้มประเทศของสเปนลง 1 ขั้น และปรับลดเรทติ้งแนวโน้มของไอร์แลนด์จากมีเสถียรภาพเป็นติดลบ
สำหรับการลดเรทติ้งสเปน จาก AAA เป็น AA+ ด้วยเหตุผลที่ว่าสเปนเผชิญกับภาวะซบเซาในการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นเวลานาน และมีแนวโน้มที่จีดีพีจะขยายตัวต่ำกว่า 1% ต่อปี เพราะหนี้ภาคเอกชนสูง และตลาดแรงงานตึงตัว พร้อมเตือนอีก 2 อาจลดเรทติ้ง หากรัฐบาลไม่ใช้มาตรการเชิงรุก จัดการปัญหาขาดสมดุลการคลัง
ขณะที่กรีซเหมือนผีซ้ำด้ามพลอย หลังฟิทช์ลดเรทติ้งได้ไม่นาน เอส แอนด์ พีประกาศหั่นเรทติ้งระยะยาวกรีซในกลางเดือนธ.ค. จาก A- มาเป็น BBB+ พร้อมเครดิตจับตามองเป็นลบ โดยให้เหตุผลว่าสถานะการคลังของกรีซเสื่อมถอย
ยูริ แลนเดสแมน ผู้จัดการกองทุนของไอเอ็นจี อินเวสต์เมนท์ แมเนจเมนท์ ให้ความเห็นว่าปัญหาความไม่เชื่อมั่นในสถานะการคลังของกรีซ นับว่าสำคัญและน่ากังวลใจมากกว่าปัญหาของดูไบ เพราะมีธนาคารมากมายหลายแห่งในยุโรปปล่อยกู้ให้กรีซ ทำให้ปัญหาที่เกิดกับกรีซน่าจะสำคัญและรุนแรงกว่าปัญหาของดูไบ
โดยนักวิเคราะห์มองความเสี่ยงเนื่องจากกรีซผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น และไม่แน่ใจว่าชาติสมาชิกอื่นในกลุ่มสหภาพยุโรปหรือ อียู จะช่วยเหลือกรีซไม่ให้ผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ หากสถานะทางการคลังเลวร้ายลงไปอีก
นอกจากนี้ หากพันธบัตรของรัฐบาลกรีซถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับลงทุน จะทำให้ขาดคุณสมบัติในการเป็นหลักประกันการกู้ยืมจากธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี ด้วย ส่วนประเทศอื่นในยุโรป เช่น สเปนก็ถูกจับตามองเรื่องความเสี่ยงจากภาระหนี้รัฐสูงขึ้น รวมทั้งประเทศในยุโรปตะวันออก อย่างบัลแกเรีย ฮังการี และกลุ่มประเทศบอลติก ที่มีสัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีสูงเช่นกัน
โดยปัญหาเศรษฐกิจและฐานะการคลังของกรีซ สเปนและโปรตุเกส ที่ล้วนเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู ที่ใช้สกุลเงินยูโรนั้น ตกเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลก รวมทั้งสื่อตะวันตกโดยเฉพาะ ดิ อีโคโนมิสต์ นิตยสารเศรษฐกิจชั้นนำของอังกฤษ และ นิวส์วีค นิตยสารเศรษฐกิจการเมืองชั้นนำสหรัฐ พากันจับตาความสามารถจัดการเศรษฐกิจและบริหารหนี้สาธารณะของทั้ง 3 ประเทศ
ทั้งนี้ปัญหาความน่าเชื่อถือในการบริหารงานเศรษฐกิจ และจัดการหนี้ภาครัฐของบางประเทศในยุโรป ซึ่งรวมถึงกรีซ สเปน อิตาลีและโปรตุเกส ทำให้นักวิเคราะห์หันมาประเมินสถานการณ์ในกลุ่มประเทศแถบยุโรปกันมากขึ้น เพราะวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงของประเทศเหล่านี้ และปัญหาขาดดุลการคลังของบางประเทศที่เป็นสมาชิกอียูยังเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตามอง
โดยนักวิเคราะห์กลุ่มหนึ่งมองไกลไปถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาที่ลุกลามใหญ่กว่า เพราะหากมีประเทศสมาชิกใดในยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโร เกิดผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมาจริงๆ ก็อาจจะกระทบต่อชาติสมาชิกอื่นๆ ในอียูหรือกลุ่มยูโรโซนทั้ง 16 ประเทศได้
ขณะเดียวกันมีข่าวว่า มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส หรือมูดี้ส์ ออกมาเตือนสหรัฐกับอังกฤษด้วยว่า ความเสื่อมถอยของสถานะการเงินการคลังของทั้งสองประเทศ อาจเป็นการทดสอบเรทติ้งมหาอำนาจเศรษฐกิจของโลกทั้งสองประเทศได้รับในปัจจุบันที่ระดับ Aaaa
มูดี้ส์ยังหันมาสนใจญี่ปุ่น ด้วยการเตือนให้เร่งวางแผนลดหนี้รัฐบริหารการคลังให้ดีและมั่นคงในระยะยาว เพื่อสนับสนุนอันดับความน่าเชื่อถือประเทศ หลังปรากฏข่าวความเห็นขัดแย้งในรัฐบาลเรื่องการจำกัดมูลค่าพันธบัตรเตรียมออกในปี 2553 ส่งผลต่อการวางแผนกับความสามารถลดหนี้สาธารณะ
ด้านฟิทช์เขย่าขวัญอังกฤษ ฝรั่งเศสและสเปน ส่งท้ายปี 2552 ด้วยการเตือนให้ทั้ง 3 ประเทศสำคัญของยุโรป ปรับปรุงสถานะการคลังให้มั่นคงมากขึ้น และเพิ่มความน่าเชื่อถือทางการคลังให้มากขึ้น ด้วยการลดหนี้สาธารณะและความเสี่ยง ที่จะสร้างแรงกดดันให้กับเรทติ้งเดิมซึ่งแข็งแกร่งอยู่ระดับ AAA
ทั้งนี้เมื่อปลายเดือนพ.ย.2552 นักวิเคราะห์ของมูดี้ส์ ออกมาเตือนเรื่องหนี้สาธารณะทั่วโลกระหว่างปี 2550-2553 จะขยายตัวเพิ่ม 45% หรือกว่า 49 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งหากเทียบกับต้นทุนใช้ฟื้นฟูยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือว่ามากกว่า 100 เท่า
สอดรับกับองค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี เตือนไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 30 ประเทศ จะจมอยู่กับภาระหนี้ที่ขยายตัว 100% ของจีดีพีหรือมากกว่านี้ในปี 2553 ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลเกือบ 2 เท่าของมูลหนี้ที่มีอยู่เมื่อ 20 ปีก่อน
จากข้อมูลของโออีซีดีและมูดี้ส์ ก่อเกิดความกังวลเพ่งเล็งไปที่หนี้สาธารณะทุกประเทศทั่วโลกว่าน่าเป็นห่วงและกำลังก่อปัญหา เพราะการใช้นโยบายการคลังเชิงรุกของประเทศต่างๆ เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกถดถอยรุนแรงสุดในรอบเกือบ 80 ปี ซึ่งมีต้นตอมาจากวิกฤติสินเชื่อบ้านปล่อยกู้ลูกค้าความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์มสหรัฐ)
โดยอีโคโนมิสต์หวั่นเกรงว่า หนี้สาธารณะสูงขึ้นส่งผลต่อเครดิตการชำระคืนหนี้ของบางประเทศ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ครั้งใหม่ของเศรษฐกิจโลก พร้อมย้ำการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงติดลบในปี 2552 จะทำให้ประเทศที่มีหนี้มหาศาล บริหารจัดการหนี้ส่วนนี้ได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ
นิวส์วีคยังอ้างรายงาน "ตามติดหนี้รัฐทั่วโลกเดือน พ.ย.ปี 2552" ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งบ่งชี้ความเป็นไปได้ที่กลุ่มชาติร่ำรวยอาจผิดชำระหนี้อย่างกรณีดูไบมีมากขึ้น
ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ตัวเลขการคลังมากมาย สะท้อนวิกฤติการเงินโลกที่รุนแรงมากสุดในรอบ 80 ปีครั้งล่าสุด เป็นต้นตอสำคัญทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณกับหนี้ภาครัฐมากขึ้นในกลุ่มชาติร่ำรวย อย่างสหรัฐ-สเปน-ญี่ปุ่น-อิตาลี-อังกฤษ ย่ำแย่กว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อย่างจีน-อินเดีย-เกาหลีใต้
ด้วยข้อมูลข้างต้นล้วนนำไปสู่การตั้งสมมติฐานเลวร้ายสุด คือรัฐบาลชาติร่ำรวยข้างต้นอาจไม่สามารถลดหนี้มหาศาลที่มีอยู่ได้ง่ายๆ เพราะหนี้มากมายเป็นหนี้ระยะสั้นต้องโรลโอเวอร์ต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ว่าหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมาในกลุ่มประเทศร่ำรวยจริง นักลงทุนทั่วโลกอาจได้เห็นวิกฤติการเงินครั้งใหม่ รับช่วงต่อจากวิกฤติซับไพร์มในไม่ช้า
No comments:
Post a Comment