การซื้อขายในตลาดเงินตราต่างประเทศ ในที่นี้นั้นคือการเก็งกำไร เมื่อซื้อเก็บไว้ แล้ว ถ้าราคาขึ้นคือมีราคาสูงขึ้น เมื่อเราขายออกก็มีกำไร ถ้าราคาตกหรือมีราคาลดลง เมื่อขายออกก็ขาดทุน แต่ยังมีวิธีการเล่นอีกอย่าง คือ การขายออก เป็นการขายค่าเงินออกโดยที่เราไม่ได้ถือค่าเงินนั้นๆไว้ คล้ายๆกับการที่เรายืมค่าเงินมาขายออกก่อนในช่วงที่ค่าเงินมีราคาสูง คือได้ราคาดี จากนั้นเมื่อค่าเงินตกหรือมีราคาต่ำลง เราค่อยซื้อกลับคืนมา ซึ่งเท่ากับว่าได้จ่ายค่าเงินนั้นกลับไปในราคาที่ต่ำลง ทำให้เราได้กำไรจากส่วนต่าง ดังนั้น นักลงทุนที่ดีจึงสามารถทำเงินได้ในตลาด เงินตราต่างประเทศ ทั้งขาขึ้นและขาลง โดยไม่ต้องรอหวังว่าตลาดจะขึ้นอย่างเดียว
ความรู้พื้นฐานในการวิเคราะห์จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้เราปลอดภัยในการซื้อขายในตลาดเงินตราต่างประเทศ ซึ่งการวิเคราะห์นั้นมีอยู่ 2 ชนิดใหญ่ๆ ดังนี้
1. การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis)
การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเป็นการวิเคราะห์ภาวะทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และค่าเงินของประเทศนั้นๆ ซึ่งประเทศไหนเศรษฐกิจดี ค่าเงินก็ดีขึ้นตาม อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้มีอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้น ซึ่งเราสามารถติดตามสภาพพื้นฐานนี้ได้จากข่าวต่างๆ แต่วิธีการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานไม่สามารถบอกถึงจังหวะการเข้าซื้อขายได้
2. การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis)
การวิเคราะห์ทางเทคนิคคือการหาแนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคาจากทางเดินของกราฟ ซึ่งมีวิธีการที่หลากหลายมาก อาศัยหลักวิชาการทางสถิติ ความน่าจะเป็น และหลักจิตวิทยามาวิเคราะห์ เนื่องจากความเชื่อว่าราคาหลักทรัพย์มักจะเคลื่อนที่ไปตามแนวโน้มอย่างเป็นแบบแผน ในช่วงเวลาหนึ่งๆ จนกว่าจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่แนวโน้มใหม่ สามารถวิเคราะห์ได้เร็วกว่าการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน เพราะต้องใช้ข้อมูลน้อย ใช้เพียงราคาและปริมาณการซื้อขายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น
ในการวิเคราะห์ที่ดีนั้น ควรใช้การวิเคราะห์ทั้งสองอย่างประกอบกันในการตัดสินใจ
No comments:
Post a Comment